นโยบายน้ำตาลของสหภาพยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 21, 2014 15:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

น้ำตาลเป็นสินค้าสำคัญต่อการบริโภคในครัวเรือน และเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมอาหาร จึงเป็นสินค้าเกษตรที่ประเทศต่างๆ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ ได้แก่ บราซิล ไทย ออสเตรเลีย อินเดีย และสหภาพยุโรป หรือประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป อินโดนีเซีย จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่จึงมีการใช้มาตรการและนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

สหภาพยุโรปได้มีการจัดตั้งองค์กรการตลาดร่วมสินค้าเกษตร (Single Common Market Organization : CMO) เพื่อกำหนดระเบียบของสินค้าเกษตรทุกชนิดให้เป็นระเบียบเดียวกัน รวมถึงสินค้าน้ำตาลซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย

สถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556 คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท (DG Agriculture and Rural development : DG-AGRI) ประกาศว่ารัฐสภายุโรป คณะมนตรียุโรป และคณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติ 3 ฝ่ายร่วมกันในเรื่องการปฏิรูปนโยบายเกษตรร่วมภายหลังจากปี 2013 (The Common Agricultura 2013 : The CAP Post - 2013) ของสหภาพยุโรป ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสินค้าน้ำตาล ดังนี้

  • สหภาพฯ มีนโยบายที่จะยกเลิกโควตาน้ำตาลในปี 2559/60 ซึ่งจากเดิมระบบโควตาน้ำตาลของสหภาพฯ จะสิ้นสุดลงในปี 2558 และได้ขยายมาอีก 2 ปีตามมติ 3 ฝ่าย เพื่อให้เกษตรกรและผู้ผลิตสามารถปรับตัวต่อการเปิดเสรี และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรของน้ำตาลโดยส่งเสริมให้มีการทำสัญญาและความตกลง Mandatory interprofessional agreements แต่ยังคงมีการกำหนดราคาอ้างอิง (Reference price) เท่ากับ 335.2 ยูโร/ตัน สำหรับน้ำตาลทรายดิบ และ 404.4 ยูโร/ตัน สำหรับน้ำตาลทรายขาว
  • ภายหลังการยกเลิกระบบโควตายังคงมีการช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรในการจัดเก็บน้ำตาลทรายขาว(Private Storage Aid) เพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา และอนุญาตให้มีการนำเข้าน้ำตาลทรายปลอดภาษีโดยไม่จำกัดปริมาณจากประเทศกำลังพัฒนาตามที่กำหนด เพื่อรักษาระดับอุปทานน้ำตาลในตลาดสหภาพฯ อย่างไรก็ตาม จากการที่อุปทานน้ำตาลในตลาดสหภาพฯ เพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก และราคาน้ำตาลของไทยที่จะส่งออกไปยังตลาดสหภาพได้
  • ทั้งนี้ ระเบียบขององค์กรตลาดร่วม (Common Market Organization: CMO) ที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาล ประกอบด้วย
  • การสิ้นสุดระบบโควตาการผลิตน้ำตาลในวันที่ 30 กันยายน 2560 โดยจะไม่มีการจัดสรรโควตาให้กับประเทศสมาชิกอีกต่อไป
  • การปรับปรุงสถานะของเกษตรกรในห่วงโซ่การผลิตอาหารให้ดีขึ้น โดยให้มีการบังคับใช้การทำสัญญาระหว่างเกษตรกรกับผู้ผลิต และสนับสนุนการจัดตั้ง Producer Organizations (PO) ของเกษตรกรผู้เพาะปลูกหัวบีท โดยได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินจากสหภาพฯ
  • จัดตั้งระบบให้การช่วยเหลือเกษตรกรในด้านจัดเก็บสินค้า (Private Storage Aid) ภายหลังการสิ้นสุดระบบโควตาน้ำตาล
  • การใช้มาตรการชั่วคราว (Temporary measures) ขึ้นมาทดแทนมาตรการยกเว้นเดิม (Exceptional measures) ในระหว่าง 3 ปีที่มีการขยายระยะเวลาสิ้นสุดระบบโควตาน้ำตาลโดยเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2557 โดยรายละเอียดเกี่ยวข้องกับกลไก และอัตราภาษีจะถูกกำหนดไว้ในระเบียบ Implementing Regulation ซึ่งจะมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยที่มาตรการยกเว้นและการนำเข้าน้ำตาลส่วนเพิ่มจะอนุญาตเฉพาะน้ำตาลทรายดิบเท่านั้น ในขณะที่มาตรการยกเว้นเดิมจะสามารถใช้ได้กับทั้งน้ำตาลทรายดิบและ น้ำตาลทรายขาว รวมถึงการตั้งภาษีนำเข้าน้ำตาลส่วนเพิ่มสำหรับการนำเข้าน้ำตาลที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สิทธิพิเศษที่ 339 ยูโร/ตัน
ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ

ไทยยังคงต้องมีการติดตามการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตสินค้าน้ำตาลอย่างใกล้ชิด เพราะถึงแม้ว่าจะมีการยกเลิกระบบโควตาการผลิตน้ำตาล แต่ว่าอัตราภาษีนำเข้าสำหรับประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษยังคงอยู่ในอัตราที่สูง คือ 419 ยูโร/ตัน และสหภาพฯ ยังคงสามารถส่งออกน้ำตาลภายใต้การควบคุมและดุลยพินิจของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งอาจส่งผลต่ออุปทานน้ำตาลในตลาดสหภาพฯ และราคาสินค้าน้ำตาลที่จะส่งออกไปยังตลาดสหภาพฯ ได้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ