ระบบการบริหารสินค้าน้ำตาลของสหภาพยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 21, 2014 15:07 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สหภาพยุโรปเป็นผู้ผลิตน้ำตาลมากเป็นอันดับ 3 และเป็นผู้ผลิตน้ำตาลจากหัวบีทมากเป็นอันดับ 1 ของโลก(ผลผลิตน้ำตาลทรายของโลกประกอบด้วยน้ำตาลจากอ้อยร้อยละ 80 และน้ำตาลจากหัวบีทร้อยละ 20) ในขณะเดียวกับก็เป็นผู้นำเข้าน้ำตาลดิบที่สำคัญของโลกด้วยเช่นกัน โดยที่นโยบายน้ำตาลของสหภาพประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ การบริหารโควตาการผลิต การกำหนดราคาอ้างอิงและราคาขั้นต่ำ และระบบการค้าน้ำตาล

1. การบริหารโควตาการผลิต

1) การบริหารโควตาการผลิตของสหภาพฯ กำหนดปีการตลาดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 30 กันยายนของปีถัดไป โดยแบ่งระบบโควตาออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.1) ในโควตา (In - Quota) เพื่อใช้บริโภคในสหภาพฯ และส่งออก โดยจะได้รับการพยุงราคาและอุดหนุนจากรัฐบาล และมี Export refund ที่ครอบคลุมผลต่างระหว่างราคาน้ำตาลในตลาดโลกกับราคาภายในสหภาพฯ หากมีการส่งออก โดยกำหนดปริมาณการผลิตในโควตาประมาณ 17 ล้านตัน จัดสรรให้ประเทศสมาชิก 19 ประเทศในการผลิต และกำหนดค่าธรรมเนียม (Production charge) 12 ยูโร/ตัน จ่ายให้แก่รัฐบาลของประเทศตน ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปมีอำนาจที่จะลดโควตาประจำปีได้ชั่วคราวก่อนการเพาะปลูกสำหรับปีตลาดถัดไป

1.2) นอกโควตา (Out - Quota) จะถูกกำหนดให้นำไปใช้ใน (1) อุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น พลังงาน/เอทานอล เคมีภัณฑ์ หรือยา (2) ส่งไปใช้ตามพื้นที่ห่างไกล (Outermost region) ในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 75,000 ตัน (3) นำไปนับรวมเป็นน้ำตาลในโควตาการผลิตของปีถัดไป (4) ส่งออกภายใต้จำนวนที่จำกัด คือ 1.35 ล้านตัน โดยที่ Sugar Management Committee จะเป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาต โดยน้ำตาลนอกโควตานี้จะไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งนี้ หากมีการนำผลผลิตส่วนเกินนี้ออกมาจำหน่ายภายในประเทศ จะมีโทษปรับ 500 ยูโรต่อตัน

2) การป้องกันปริมาณน้ำตาลล้นตลาด และบรรเทาปัญหาราคาตกต่ำ โดยจะมีการพิจารณาลดปริมาณการผลิต (withdraw) ลงโดย (1) พิจารณาลดการผลิตครั้งแรกภายในวันที่ 16 มีนาคม ก่อนเริ่มปีการตลาดใหม่ เพื่อให้ผู้ผลิตลดการปลูกบีทลง และสามารถปรับอีกครั้งในเดือนตุลาคม หากมีความจำเป็น หรือ (2) กำหนดให้ผู้ผลิตน้ำตาลเก็บผลผลิตไว้ส่วนหนึ่งของปริมาณโควตาทึ่ได้รับ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเอง และให้นำน้ำตาลดังกล่าวไปใช้ใน (1) เป็นน้ำตาลงวดแรกของโควตาการผลิตในฤดูกาลผลิตถัดไป (carry over) ซึ่งอาจนำไปใช้ในอุตสาหกรรม หรือส่งออกภายใต้ข้อผูกพันของ WTO (2) ในกรณีที่เกิดน้ำตาลขาดตลาด หรือมีปริมาณน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผู้ผลิตสามารถนำน้ำตาลที่ withdraw ไว้ดังกล่าวออกมาขายได้ก่อนสิ้นปีการตลาดนั้นๆ และเกษตรกรจะได้รับเงินที่ราคาขั้นต่ำของปีนั้น

3) การเพิ่มโควตาการผลิต (Additional quota) เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง ต้นทุนต่ำสามารถเพิ่มโควตาการผลิตของตนได้ โดยมีการจัดสรรโควตาไว้เพิ่มเติม 1.1 ล้านตัน ซึ่งผู้ผลิตที่ต้องการขอโควตาเพิ่มเติมจะต้องเสียค่าธรรมเนียม (levy) ครั้งเดียว 730 ยูโร/ตัน ให้แก่รัฐบาลของประเทศตน

2. การกำหนดราคาขั้นต่ำและราคาอ้างอิง

รัฐบาลจะกำหนดราคาอ้างอิง (Reference price) โดยจะลดลงร้อยละ 36 ภายในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ 2549/50 - 2552/53 และรัฐจะรับซื้อที่ราคาร้อยละ 80 ของราคาอ้างอิง ในปริมาณไม่เกิน 600,000 ตันต่อปี โดยราคาอ้างอิงปัจจุบันสำหรับน้ำตาลทรายดิบเท่ากับ 335.20 ยูโร/ตัน และน้ำตาลทรายขาว 404.40 ยูโร/ตัน และราคาขั้นต่ำสำหรับหัวบีทสำหรับการผลิตน้ำตาลในโควตาที่โรงงานน้ำตาลจะจ่ายให้เกษตรกรเท่ากับ 26.29 ยูโร/ตัน โดยจะมีการช่วยเหลือด้านการจัดเก็บ (Private storage aid) สำหรับน้ำตาลทรายขาว หากราคาตลาดลดลงต่ำกว่าราคาขั้นต่ำ โดยได้รับความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป

3. การนำเข้าน้ำตาลของสหภาพยุโรป

1) การนำเข้าน้ำตาลภายใต้ TRQs สหภาพยุโรปควบคุมระบบการนำเข้าน้ำตาลด้วยระบบ Tariff-Rate Quotas (TRQs) ซึ่งกำหนดปริมาณน้ำตาลที่จะนำเข้าจากต่างประเทศที่อัตราภาษีในโควตาเท่ากับ 0 และ 98 ยูโร/ตัน รวม 1,056,925 ตัน/ปี ประกอบด้วย โควตาน้ำตาล CXL รวม 676,925 ตัน/ปี ประกอบด้วยออสเตรเลีย 9,925 ตัน บราซิล 334,054 ตัน คิวบา 68,969 ตัน และประเทศที่ 3 อื่น ๆ 253,977 ตัน ที่อัตราภาษี 98 ยูโร/ตัน และอินเดีย 10,000 ตัน ที่อัตราภาษี 0 และโควตาน้ำตาล Balkans รวม 380,000 ตัน/ปี ประกอบด้วยแอลเบเนีย 1,000 ตัน บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา 12,000 ตัน เซอร์เบียและโคซาโว 180,000 ตัน มาซิโดเนีย 7,000 ตัน โครเอเชีย 180,000 ตัน ที่อัตราภาษี 0 ในขณะที่ภาษีนำเข้านอกโควตาสำหรับน้ำตาลทรายเท่ากับ 419 ยูโร/ตัน และน้ำตาลทรายดิบเท่ากับ 339 ยูโร/ตัน โดยอาจจะมีการเก็บอัตราภาษีส่วนเพิ่ม (Additional import duty) ในกรณีที่ราคานำเข้าต่ำกว่าระดับราคาเป้าหมาย (Trigger price) ที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ภายใต้ WTO

2) การนำเข้าน้ำตาลภายใต้สิทธิพิเศษ ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของน้ำตาลทรายดิบจากกลุ่มประเทศ ACP และ LDCs โดยมีการกำหนดแผนการนำเข้าจากประเทศต่างๆ ที่ได้รับสิทธิ นอกเหนือจากการนำเข้าภายใต้ TRQs ได้แก่ ประเทศในกลุ่ม LDCs (Least Developed Countries) ภายใต้โครงการ Everything But Arms (EBA) จำนวน 49 ประเทศ เป็นการให้สิทธิพิเศษในการนำเข้าน้ำตาลทรายขาว โดยไม่จำกัดปริมาณ และปลอดภาษี (Duty Free Quota Free : DFQF) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542 และ ประเทศ ACP (African, Caribbean and Pacific) จำนวน 79 ประเทศ (ทั้ง LDCs และ Non-LDCs) ซึ่งกำลังจัดทำความตกลง หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreements: EPAs) กับสหภาพฯ เพื่อนำมาบังคับใช้แทนพิธีสาร ACP Sugar Protocol ให้นำเข้าได้โดยไม่จำกัดปริมาณ และปลอดภาษี (DFQF) ทั้งนี้ จะมีการคุ้มครองการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวภายใต้มาตรการปกป้อง (Safeguard) ที่ห้ามนำเข้าน้ำตาลเกินกว่า 3.5 ล้านตัน/ปี (ไม่เกิน 1.6 ล้านตัน/ปี สำหรับ Non-LDCs) จนถึงเดือนกันยายน 2558 และจะสามารถนำเข้าน้ำตาลภายใต้ความตกลง EPAs อย่างเสรีโดยไม่จำกัดจำนวนและปลอดภาษีภายใต้ Safeguard clause ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

4. การส่งออกน้ำตาลของสหภาพยุโรป

1) การส่งออกน้ำตาลในโควตา สหภาพฯ กำหนดให้ผู้ส่งออกยื่นขอ Export license โดยมีประเทศสมาชิกเป็นผู้ออกใบอนุญาตภายใต้การควบคุมของ Management Committee เพื่อให้ปริมาณการส่งออกและจำนวนเงินอุดหนุนเป็นไปตามที่ผูกพันไว้กับ WTO เป็นจำนวนไม่เกิน 1.274 ล้านตัน หรือคิดเป็นเงินอุดหนุนไม่เกิน 499.10 ล้านยูโร/ปี ต่อมาได้มีการปรับข้อผูกพันหลังการขยายสมาชิกภาพเป็น 25 ประเทศ เป็นจำนวนไม่เกิน 1.374 ล้านตัน หรือคิดเป็นเงินอุดหนุนไม่เกิน 513.90 ล้านยูโร/ปี และถ้าหากมีการนำน้ำตาลส่วนนี้มาขายในประเทศจะถูกปรับ (surplus levy) 500 ยูโร/ตัน

2) การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลในโควตา จะมีเงินชดเชย (Export refund) สำหรับการส่งออกน้ำตาลตามโควตา โดยเงินชดเชยนี้จะครอบคลุมส่วนต่างระหว่างราคาน้ำตาลในตลาดโลกกับราคาน้ำตาลในสหภาพฯ

5. ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ

1) ไทยส่งออกน้ำตาลไปยังสหภาพยุโรปมากเป็นอันดับที่ 26 ของประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลไปสหภาพฯทั้งหมด โดยในปี 2556 มีการส่งออกน้ำตาลเท่ากับ 13,588 ตัน ซึ่งลดลงจากปี 2555 ที่มีการส่งออกเท่ากับ 28,434 ตัน และปี 2554 เท่ากับ 63,154 ตามลำดับ ซึ่งไทยยังคงมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสหภาพฯ เนื่องมาไทยไม่ได้รับการจัดสรรโควตาภายใต้ TRQ ทำให้ต้องเสียภาษีนำเข้าน้ำตาลสูงถึง 419 ยูโร/ตัน ในขณะที่บราซิล และออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรโควตาน้ำตาล CXL ที่อัตราภาษีเพียง 98 ยูโร/ตัน

2) จากการเจรจา FTA ระหว่างสหภาพฯ กับเปรูและโคลอมเบีย และ 6 ประเทศอเมริกากลาง ที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีในการนำเข้าน้ำตาลจากประเทศดังกล่าวภายใต้ TRQs ทำให้มีอุปทานน้ำตาลเข้าสู่ตลาดสหภาพฯ ในปีที่ผ่านมาถึง 244,000 ตัน ซึ่งอาจจะส่งผลถึงความสามารถทางการแข่งขันของไทยในการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ