ภูฏานเป็นประเทศเล็กๆ ที่ถูกจับตามองด้วยความสนใจจากประเทศอื่นๆทั่วโลก จากการประกาศในปี 2515 (1972) ว่าจะให้ความสำคัญกับดัชนีชี้วัดความสุขรวมภายในประเทศ (GDH : Gross Domestic Happiness)มากกว่าดัชนีผลิตภัณฑ์มวลภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างสวนทางกับหลายประเทศ และล่าสุดภูฏานได้ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสนใจภูฏานอีกครั้ง เมื่อนาย Lyonpo Yeshey Dorji รัฐมนตรีกระทรวงป่าไม้และเกษตรของภูฏาน เปิดเผยในระหว่างการประชุม “Delhi Sustainable Development Summit 2013” ในปี 2556 (2013) ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ว่าภูฏานจะปฏิวัติสู่การเกษตรแบบปลอดสารพิษในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็น ให้ได้ภายในปี 2563 (2020) เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการใช้สารเคมี
เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนภูฏาน คิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด (ประมาณ 740,000 คน)รองลงมาคือ ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 31% และ 6% ตามลำดับ ในปี 2556 (2013) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีมูลค่า 1.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจ ขนาดเล็กที่สุดในโลก พื้นที่ทั้งหมดของประเทศประมาณ 38,394 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่า ร้อยละ 70 พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ(ยกเว้น พืชสวน) ร้อยละ 7.7 เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 3.9 และพื้นที่ปลูกพืชสวน ร้อยละ 0.1 แต่รายได้หลักของภาครัฐมาจากการส่งออกกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นภูเขาของภูฏานเอื้ออำนวยต่อการสร้างเขื่อนสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ (Hydroelectric power) ซึ่งในปี 2552 (2009) คิดเป็นร้อยละ 40 ของรายได้หลักของรัฐบาล และร้อยละ 22 ของ GDP
นาย Pema Gyamtsho ผู้นำฝ่ายค้านของภูฏานเห็นว่า การใช้สารเคมีจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในวงกว้าง เนื่องจากภูฏานมีพื้นที่เพาะปลูกตามภูเขา ทำให้สารเคมีจากภาคเกษตรไหลลงสู่แม่น้ำไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ง่ายทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสุขภาพของคนในประเทศ และเชื่อว่าแนวคิดเกษตรอินทรีย์จะประสบความสำเร็จภายปี 2563 (2020) ได้ไม่ยาก เนื่องจากเกษตรกรในภูฏานมีการทำเกษตรอินทรีย์ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ร้อยละ 60 และใช้ปุ๋ยเคมีร้อยละ 30 สาเหตุที่มีปริมาณการใช้สารเคมีน้อยกว่า เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งมีพระพุทธศาสนา (นิกายมหายาน) เป็นเสมือนรากฐานที่แข็งแกร่งในการดำรงชีวิต และการตระหนักถึงประโยชน์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติ
นาย Pema Gyamtsho ยังชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญคือ การสร้างความความตระหนักรู้แก่เกษตรกรถึงความสำคัญของความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาพแวดล้อม โดยปราศจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ควบคู่กับการพัฒนาการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรให้มีความน่าเชื่อถือ และเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น และเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาสารเคมี เนื่องจากต้องการให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรสูงและมีคุณภาพดีเพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้นมาเลี้ยงครอบครัวและเป็นค่าเล่าเรียนของลูกหลาน ยิ่งในสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันจะทำให้บางปีร้อนมากเป็นพิเศษ ทำให้เกษตรกรเกรงว่าจะได้ผลผลิตน้อย จึงมีการเร่งใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองเปโรที่เป็นเมืองเกษตรกรรมที่สำคัญทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ อย่างไรก็ตามเกษตรกรเองก็มีความต้องการให้การเกษตรกลับไปเป็นตามธรรมชาติเหมือนในอดีต
การปฏิรูปการเกษตรสู่การทำเกษตรอินทรีย์ของภูฏาน นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ที่แสดงให้เห็นถึงการตระหนักถึงคุณค่าของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้ประเทศ และการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และธรรมชาติอย่างมีความสุข ซึ่งแนวคิดนี้จะประสบความสำเร็จได้ หากรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรด้วยความสมัครใจ ทั้งนี้ ภูฏานเป็นประเทศเล็ก ประชากรน้อย จึงง่ายต่อการบริหารจัดการ อีกทั้งมีพุทธศาสนาที่ทำให้มนุษย์รักธรรมชาติ และสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปครั้งนี้ยังคงมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย เนื่องจากต้องใช้เวลาอย่างมากกว่าจะฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของดินในปัจจุบันให้ดีขึ้น จนทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น และอาจมีแรงต้านทานจากเกษตรกรบางกลุ่มที่เชื่อว่าเกษตรอินทรีย์จะทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง ไม่เท่าการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน สภาพอากาศที่แปรปรวนของในปัจจุบันยิ่ง ทำให้ผลผลิตลดลงยิ่งขึ้น จนอาจส่งผลต่อรายได้ในครัวเรือนลดลง แต่หากภูฏานสามารถผันสู่เกษตรอินทรีย์แบบ 100 เปอร์เซ็น สู่ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ก็จะกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่มีพืชผลทางการเกษตรปลอดสารพิษ ซึ่งอาจเป็นที่น่าอิจฉาของหลายๆ ประเทศที่กำลังเฝ้ามองผลสำเร็จของแนวคิดดังกล่าวอย่างแน่นอน
ภูฏานเป็นคู่ค้าในตลาดโลกอันดับที่ 132 ของไทย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2552-2556 : 2009-2013) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 16.08 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2556 (2013) การค้ารวมมีมูลค่า 25.84 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 66.45 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 25.75 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกมีมูลค่า 25.80ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 70.07 สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ซุปและอาหารปรุงแต่ง เตาไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้า ผ้าผืน เป็นต้น และการนำเข้ามีมูลค่า 0.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 88.26 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สินค้านำเข้าที่สำคัญจากภูฏาน ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์อื่นๆ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การที่ภูฏานเป็นประเทศปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็น อาจไม่ส่งผลให้ไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากภูฏานมากขึ้นจนมีนัยสำคัญ เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าของไทยจากภูฏานค่อนข้างน้อย และการขนส่งสินค้ายังเป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากภูฏานเป็นประเทศที่ไม่ติดทะเลและมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ทำให้การขนส่งสินค้ามีความยากลำบาก ต้องพึ่งการขนส่งทางอากาศ ทำให้มีต้นทุนสูง นอกจากนั้น ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น สปป.ลาว ก็มีการทำเกษตรปลอดสารพิษเช่นกัน ทำให้ไทยมีแนวโน้มที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรดังกล่าวจากลาวมากกว่าเนื่องจากอยู่ใกล้ไทยมากกว่า ทำให้ต้นทุนต่ำกว่า
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630