การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐจัดได้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศรวมทั้งอียู โดยเฉลี่ยแต่ละปีหน่วยงานของรัฐในอียูใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจัดซื้อสินค้าและจัดจ้างงานบริการรูปแบบต่างๆ ประมาณ 2 ล้านล้านยูโร หรือเทียบเท่ากับ 19% ของ GDP รวมของอียู ด้วยความสำคัญนี้ ในที่สุดอียูได้ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐให้มีความทันสมัยและสนับสนุนเป้าประสงค์ตามกลยุทธ์ 2020 ที่วางไว้ โดยเฉพาะ เรื่อง การเติบโตอย่างยั่งยืน และการรวมกลุ่มทางสังคม การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของ SMEs และ การส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมใหม่ ดังนั้น การส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว(Green Public Procurement : GPP) จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนับสนุนการบรรลุเป้าประสงค์ในเรื่องนี้ของอียู
ปัจจุบันไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนของ GPP แต่หากประมวลจาก Communication 400 ปี 2008 เรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น (Public procurement for a better environment) นิยาม GPP ไว้ว่า"กระบวนการที่ผู้เกี่ยวข้องภาครัฐใช้เสาะหาในการจัดซื้อสินค้า จัดจ้างงานบริการ และงานก่อสร้าง ที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้า งานบริการและงานก่อสร้างเหล่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เคยเป็นมา"
ณ ปัจจุบัน GPP เป็นเครื่องมือตามความสมัครใจเท่านั้น จึงขึ้นกับแต่ละประเทศสมาชิกอียูว่าจะปฏิบัติเรื่อง GPP ในระดับใด อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนนโยบายการจัดซื้อสีเขียวสามารถมีบทบาททางการตลาดที่สำคัญได้ เช่นกัน รวมทั้งเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ต้องไม่ลืมว่า กำลังซื้อของภาครัฐในบางสาขานับว่ามีสัดส่วนในตลาดสูงมาก เช่น การขนส่งสาธารณะ การก่อสร้าง บริการทางการแพทย์ และการศึกษา ดังนั้น การตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐเหล่านั้นจึงส่งผลกระทบค่อนข้างมาก
แม้ GPP จะได้ชื่อเรียกว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น หน่วยงานภาครัฐของสมาชิกอียูที่ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างแบบ GPP อ้างว่า ประโยชน์ที่ต่อยอดมาจาก GPP ไม่จำกัดอยู่เพียงผลต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่สามารถรวมถึงประโยชน์ทั้งต่อสังคม สุขภาพ ไปจนถึงเศรษฐกิจและการเมืองด้วย ดังเช่น ตัวอย่างที่จะยกขึ้นให้เห็นดังต่อไปนี้
ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม
GPP สามารถเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานภาครัฐบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น
- ลดการตัดไม้ทำลายป่า (ผ่านการจัดซื้อไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าปลูกที่มีการจัดการและเพาะปลูกอย่างถูกกฎหมาย)
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ผ่านการจัดซื้อสินค้าและบริการที่มีการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ลดลงตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์)
- ลดการใช้น้ำ / ใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (ผ่านการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีหลักการออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม)
- ลดมลภาวะทางอากาศ น้ำ และพื้นดิน (โดยการควบคุมการใช้สารเคมีและสารพิษ)
- การกระตุ้นการเกษตรอย่างยั่งยืน (โดยการจัดซื้ออาหารออร์แกนนิค)
นอกจากนั้น การดำเนินนโยบาย GPP ยังสามารถกระตุ้นองค์กรภาคเอกชนให้นำเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างด้วย รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มความตระหนักรู้ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในตัวผลิตภัณฑ์หรืองานบริการตลอดช่วงวัฏจักร เช่น การนำอาหารออร์แกนนิคมาขายในร้านอาหาร เป็นต้น
ประโยชน์ด้านสังคมและสุขภาพ
นโยบาย GPP เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต และสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการในระดับสูง อาทิ การมีรถโดยสารสาธารณะที่สะอาดขึ้นเป็นการลดมลภาวะทางอากาศ หรือ การลดการใช้สารเคมีเป็นพิษในสินค้าประเภทน้ำยาทำความสะอาดทำให้มีสุขลักษณะในการทำงานที่แข็งแรงขึ้น เป็นต้น ซึ่งส่งผลในการนำมาซึ่งคุณภาพงานที่ดีขึ้นสำหรับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในภาพรวม
ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ
เป็นที่เชื่อว่าระบบ GPP สามารถช่วยประหยัดทั้งเงินและทรัพยากร เพื่อพิจารณาจากต้นทุนของทั้งวงจรชีวิตในการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น กินไฟน้อยลง นำกลับไปใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ตลอดจนเป็นแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถลดต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเพิ่มการแข่งขันในด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมทำให้ต้นทุนลดลงได้
ประโยชน์ด้านการเมือง
ประชากรของอียูส่วนใหญ่มีทัศนคติในการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น การจัดซื้อจัดจ้าง โดยรัฐที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงได้รับการสนับสนุนจากคนในอียู ซึ่งรายงานของ Eurobarometer เดือนมีนาคม 2008 เรื่อง "Attitudes of European citizens towards the environment" แสดงให้เห็นว่า กว่าร้อยละ 78 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับถ้อยแถลงว่า "อียูควรใช้เงินงบประมาณในการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น แม้จะส่งผลให้ลดงบประมาณในด้านอื่นๆ ลง" ซึ่งในรายงานยังแสดงว่า ประชาชนอียูให้การสนับสนุนแนวคิดในการจัดซื้อจัดจ้าง"สีเขียว"ของภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น แม้ว่าราคาจะสูงขึ้นก็ตาม ดังนั้น การใช้นโยบาย GPP ของอียูจึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอียูในการแสดงข้อผูกพันของหน่วยงานของรัฐในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน
อุปสรรคในการปฏิบัติตาม GPP
แม้ว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) จะให้การสนับสนุนการใช้นโยบาย GPP แต่ในทางปฏิบัติกลับพบอุปสรรคที่เป็นความท้าทายต่อการปฏิบัติตามนโยบาย GPP ซึ่งโครงการ RELIEF รวมทั้งการสำรวจความเห็นของคณะกรรมาธิการยุโรปในรายงาน "Green Public Procurement in Europe 2006" พบความท้าทายหลายประการ ดังนี้
- การขาดแรงสนับสนุนทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการ อันอาจเนื่องมาจาก เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างทั่วทวีปยุโรปไม่ได้ให้ความสำคัญกับวาระเรื่อง GPP หรือไม่ได้ส่งผ่านความสำคัญมายังเจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างในระดับปฏิบัติ
- ต้นทุนที่สูงกว่าของสินค้าสีเขียว โดยปกติการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมักจะตัดสินโดยใช้ราคาเป็นหลักแต่สำหรับสินค้าสีเขียวควรต้องดูต้นทุนทั้งวัฎจักรชีวิตของสินค้าหรือบริการนั้นๆ (Life Cycle Cost : LCC) โดยการใช้หลักเกณฑ์ทางสิ่งแวดล้อมเป็นกลไกในการพิจารณา ซึ่งทำให้ดูประหนึ่งว่า สินค้าที่เข้ากระบวนการจัดซื้อมีราคาสูงกว่าแต่หากพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตแล้วต้นทุนโดยรวมจะลดต่ำลง เพราะต้นทุนในการดูแลบำรุงรักษาหรือการกำจัดทิ้งจะน้อยกว่า ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแบบเดิมๆของเจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง
- การขาดผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติใช้เงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม การขาดเครื่องมือและข้อมูลที่เหมาะสมเป็นความจริงที่ว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ต้องเป็นผู้พิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้มีความเชี่ยวชาญงานด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสังคมในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการครั้งหนึ่งๆ ดังนั้น การตีความคำนิยามว่า อะไรคือสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสังคม/สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินผลการประมูลที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก
- ความต้องการระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานสามารถจัดทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มีความสอดคล้องกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างปฏิบัติในรูปแบบของตนเอง
- การขาดการผึกฝนอบรม โดยเฉพาะให้กับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจต่อประเด็นทางเทคนิคและทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกระบวนการ GPP ทั้งต่อแนวคิดเรื่องต้นทุนตามวัฎจักรชีวิตของสินค้า/บริการ รวมทั้งการอบรมให้แก่ผู้บริโภคสินค้าสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญเช่นกัน
- การขาดความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีและการสร้างเครือข่ายระหว่างกัน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
- ข้อจำกัดด้านการกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม หลายๆครั้งในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการหลายกลุ่ม เจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างไม่ทราบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและตรวจสอบยืนยันได้ในการนำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาในการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง
ในปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอียูส่วนใหญ่ได้มีการวางแผนปฏิบัติการแห่งชาติ (National Action Plan) เรื่อง GPP รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานก็ได้กำหนดนโยบาย GPP หรืออย่างน้อยมีข้อผูกพันที่จะปฏิบัติตาม GPP แทรกอยู่ในนโยบายอื่นๆ
ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ และเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้ง แรงสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดระดับความสำเร็จสำหรับการปฏิบัติตาม GPP ดังนั้น นโยบาย GPP จะมีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องมีแนวทาง ดังนี้
- กำหนดเป้าหมาย สาขาสำคัญก่อนหลัง และกำหนดเวลา ที่ชัดเจน
- กำหนดขอบเขตของกิจกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่ครอบคลุม
- มอบหมายความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามนโยบายในภาพรวม
- จัดเตรียมระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ กำหนดแนวทางที่เหมาะสมและให้การอบรมที่เข้าถึงได้
- กำหนดกลไกในการสังเกตติดตามผลการปฏิบัติงาน
อียูได้พัฒนาช่องทางให้หน่วยงานของแต่ละประเทศสมาชิกและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามนโยบาย GPP พัฒนาการล่าสุด งานศึกษาวิจัย เอกสารประกอบการอบรม รวมทั้ง หลักเกณฑ์ GPPของอียู และรายงานภูมิหลังทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถสืบค้นได้จาก EU GPP Website1 สำหรับหลักเกณฑ์ GPP (EU GPP Criteria) ครอบคลุมกลุ่มสินค้าและบริการหลากหลาย โดยนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้เห็นชอบ GPP Criteria แล้วกว่า 20 กลุ่มสินค้า/บริการ อาทิ กระดาษถ่ายเอกสารและกราฟฟิก ผลิตภัณฑ์และบริการทำความสะอาด อุปกรณ์ไอทีสำนักงาน การก่อสร้าง การขนส่ง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บริการอาหารและการจัดเลี้ยง สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์และบริการตกแต่งสวน หน้าต่าง/ประตู ฉนวนความร้อน โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไฟส่องทางและไฟสัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจรและก่อสร้างถนน เป็นต้น
กลุ่มสินค้า/บริการที่แตกต่างกัน ย่อมมีรูปแบบ GPP ที่ต่างกัน บทความนี้จะขอยกตัวอย่างองค์ประกอบหลักของหลักเกณฑ์ GPP ของอียู ในกลุ่มงานก่อสร้าง สินค้าอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศในสำนักงาน และสินค้ากระดาษและที่ทำจากไม้ ซึ่งเป็นสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและอาจมีโอกาสไปแข่งขันในประเทศสมาชิกอียูได้บ้าง
งานก่อสร้าง
ตัวอย่างหลักเกณฑ์ GPP สำหรับงานก่อสร้างในอียู ประกอบด้วย
- เงื่อนไขในการเลือกสถาปนิก และวิศวกร มีประสบการณ์ด้านการออกแบบอาคารแบบบยั่งยืน
- เงื่อนไขในการเลือกคู่สัญญา มีประสบการณ์ด้านการจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในไซด์งานที่เหมาะสม
- กำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานขั้นต่ำ โดยอาจให้คะแนนเพิ่มขึ้นหากมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีกว่า
- ให้การพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับงานออกแบบที่ใช้ระบบพลังงานทดแทน
- จำกัดการใช้สารอันตรายในวัสดุก่อสร้าง และส่งเสริมการใช้ไม้ที่ไม่ผิดกฎหมายและวัสดุรีไซเคิล
- สัญญามีข้อความระบุเรื่องการจัดการขยะ ทรัพยากร รวมทั้งการขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างไปยังสถานที่ก่อสร้างเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศในสำนักงาน
หน่วยงานภาครัฐนับว่าเป็นผู้บริโภคสินค้า IT และอุปกรณ์สำนักงานรายใหญ่ และสามารถจัดการเพื่อให้เกิดการประหยัดและส่งเสริมตลาดให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้นได้มาก
- ข้อเรียกร้องด้านการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในโหมดการใช้งาน การพัก และการปิดเครื่อง โดยหน่วยงานส่วนกลางต้องระบุเงื่อนไขด้าน energy efficiency ล่าสุดตามที่กำหนดในระเบียบขั้นต่ำของอียู (the EU Energy Star) และอาจพิจารณาให้ในกรณีที่สามารถดำเนินการได้ดีกว่าที่กำหนดในระเบียบขั้นต่ำ
- การออกแบบที่สามารถใช้งานได้ทนทาน และเอื้ออำนวยต่อการอัพเกรดหรือการเปลี่ยนถ่ายชิ้นส่วน
- ข้อจำกัดต่อการใช้สารอันตรายต่อสุขภาพคนหรือสิ่งแวดล้อม
- ข้อจำกัดต่อมลภาวะทางเสียง เป็นต้น
สินค้ากระดาษและที่ทำจากไม้
อุตสาหกรรมการผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์จากไม้สามารถสร้างความสูญเสียในการตัดไม้ทำลายป่าความหลายหลายทางชีวภาพ การใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงาน ตลอดจนเกิดมลพิษทางเคมี
- เป็นกระดาษที่ผลิตจากเยื่อกระดาษที่นำกลับมาใช้อีก และ/หรือ เยื่อกระดาษบริสุทธิ์ที่ผลิตจากป่าปลูกที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน
- เป็นกระดาษที่ปราศจากคลอรีน หรือมีองค์ประกอบของคลอรีน
- มีข้อมูลที่สืบค้นได้เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของไม้ที่ถูกกฎหมาย โดยอาจยืนยันโดยใช้ใบรับรองจากบุคคลที่สาม หรือ ใบอนุญาตที่ได้รับภายใต้โครงการ FLEGT (เป็นไปตาม EU Timber Regulation No.995/2010)
- สำหรับเฟอร์นิเจอร์ ต้องมีสัญลักษณ์ตามหลักการ eco-de-sign เพื่อรับรองการนำกลับมาใช้ใหม่ได้
เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อียูให้ความสำคัญอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกหลักเกณฑ์ GPP มาแล้วกว่า 20 กลุ่มสินค้า/บริการ และยังคงเดินหน้าจัดทำหลักเกณฑ์ GPP ในการจัดซื้อจัดจ้างกลุ่มสินค้า/บริการอื่นๆ ต่อไป โดยจัดทำเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการแห่งชาติ (National Action Plan) แม้ว่าแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันหรือบังคับในเชิงกฎหมายก็ตาม แต่โดยนัยทางการเมืองและสังคมแล้ว มีการผลักดันเพื่อนำไปสู่กระบวนการปฏิบัติและการเพิ่มความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวมากขึ้นตามลำดับ ไม่บังคับแต่ก็มีช่องทางให้แต่ละประเทศสมาชิกเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับกรอบทางการเมืองของตนตามระดับที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย เนื่องจากประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักของไทยในการจัดทำแผนการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐปี พ.ศ. 2556-2559 โดยจะเน้นในภาครัฐก่อน และในขณะเดียวกันก็จะขยายไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย หน่วยงานในกำกับของรัฐ และองค์กรมหาชน ซึ่งไทยก็มีความร่วมมือกับอียูในเรื่องนี้เช่นกัน โดยอียูได้ให้ความช่วยเหลือทางทุนทรัพย์ภายใต้โครงการการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุน (Sustainable Consumption and Production Project : Policy SupportComponent) ของกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำคู่มือการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2557 ที่ครอบคลุมด้านวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เกณฑ์การจัดซื้ดจัดจ้างและรายการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630