การค้าสินค้าภายใต้อนุสัญญา CITES

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 20, 2014 14:30 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินข่าวเรื่องปัญหาการลักลอบค้างาช้างของไทย ซึ่งเกี่ยวพันกับความเสี่ยงในการถูกนานาประเทศแทรกแซงทางการค้าโดยห้ามการค้าสินค้า CITES ทั้งหมดอันเป็นมาตรการลงโทษจากประเทศสมาชิก CITES และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกกล้วยไม้และไม้หายาก ซึ่งเป็นรายการสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย

CITES หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (TheConvention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora – CITES) ปัจจุบันมีภาคีทั้งสิ้น 180 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2557) ประเทศไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 80 โดยให้สัตยาบันในวันที่ 21 มกราคม 2526 ทั้งนี้ CITES มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์โดยการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ โดยประเทศสมาชิกจะต้องมีการควบคุม โดยการออกใบอนุญาตสำหรับ 1) การส่งออก (Export) 2) การส่งกลับออกไป (Re-export) 3) การนำเข้า (Import) และ4) การนำเข้าจากทะเล (Introduction from the Sea) ซี่งมีการแบ่งรายการพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ถูกควบคุมการค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1) บัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ห้ามค้าในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่ทำการศึกษาวิจัย เพาะพันธุ์ การส่งออกจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน

2) บัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์ แต่มีการควบคุมผลกระทบจากการค้าที่อาจเป็นสาเหตุให้สัตว์ป่าและพืชป่านั้นๆ ตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ จึงอนุญาตให้ค้าในเชิงพาณิชย์ได้ และ

3) บัญชีหมายเลข 3 (Appendix III) เป็นชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ภาคีอนุสัญญา CITES ที่เป็นประเทศถิ่นกำเนิด ประกาศให้เป็นสัตว์ป่าและพืชป่าหวงห้ามหรือคุ้มครองตามกฎหมายภายใน จึงขอความร่วมมือจากประเทศภาคีอื่นให้ช่วยดูแลการค้าระหว่างประเทศด้วย

ดังนั้น ผู้ส่งออกของไทยที่คาดว่าสินค้าของตนเองจะเข้าข่ายเป็นสินค้าชนิดพันธุ์ที่ระบุไว้ในบัญชีทั้ง 3 ควรติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก กรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธการนำเข้าจากปลายทาง เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตกำกับการส่งออก

สำหรับกรณีเรื่องการลักลอบค้างาช้างนั้น ประเทศสมาชิก CITES มีความกังวลเรื่องที่ไทยไม่มีความคืบหน้าในการควบคุมการลักลอบค้างาช้างอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง ในขณะที่มีการลักลอบขายงาช้างในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายมานาน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภคงาช้างสำคัญของโลกที่มีการลักลอบค้างาช้างป่าในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ CITES ได้กำหนดเส้นตายให้ไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาการควบคุมการค้างาช้างผิดกฎหมายให้ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2558 มิเช่นนั้น CITES จะพิจารณาแทรกแซงการค้าสินค้า CITES ของไทย โดยขอความร่วมมือจากประเทศภาคีปฏิเสธการรับใบอนุญาตส่งออกสินค้า CITES จากประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ไทยไม่สามารถค้าสินค้า CITES กับประเทศภาคีที่ให้ความร่วมมือได้

ในกรณีที่เกิดการห้ามค้าสินค้า CITES ไทยจะได้รับผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า CITES โดยเฉพาะกล้วยไม้ ไม้ประดับ หนังสัตว์เลื้อยคลาน (หนังงูและหนังจรเข้) ซึ่งไทยมีมูลค่าการส่งออก 3 ปีย้อนหลัง (2554 – 2556) เฉลี่ย 111 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับและอุตสาหกรรมเครื่องหนังของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้ร่วมมือกันเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างซึ่งเป็นประเด็นที่ CITES จะนำมาพิจารณาว่าจะแทรกแซงการค้าสินค้า CITES ของไทยหรือไม่ โดยร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการงาช้างเพื่อนำส่งให้แก่ CITES ภายในวันที่ 30 กันยายน 2557 เพื่อเป็นการแสดงให้ CITES เห็นความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ อาทิ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้างาช้างดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ค้างาช้าง และแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับปรุงระบบการควบคุมการค้างาช้างให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้าง และหลุดพ้นจากการแทรกแซงการค้าสินค้า CITES จากประเทศอื่นๆ แล้วผู้ประกอบการ ผู้ค้าสินค้าชนิดพันธุ์ภายใต้ CITES ตลอดจนผู้บริโภคควรตระหนักว่าการค้าสินค้าหรือการบริโภคนั้นควรจะควบคู่ไปกับการบริหารและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน

ส่วนสินค้าเกษตร สำนักการค้าสินค้า

กันยายน 2557

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ