อุปสรรคการส่งออกทุเรียนไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 20, 2014 15:27 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ทุเรียนในประเทศไทยถูกขนานนามว่าเป็นราชาของผลไม้ (King of fruits) เนื่องจากลักษณะภายนอกที่คล้ายกับมงกุฎพระราชาและเนื่องจากเนื้อข้างในที่มีรสชาติหอมหวานและอร่อย อีกทั้งไทยยังเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกทุเรียนของโลก โดยในปี 2556 มูลค่ารวมในการส่งออกทุเรียนไทยรวม 243.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งการตลาดของไทยคิดเป็นร้อยละ 94.4 ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนทั่วโลก ตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ จีน และอินโดนีเซีย

การส่งออกทุเรียนของไทยนั้น ตลาดจีนมีมาตรการนำเข้าทุเรียนที่เข้มงวดเป็นพิเศษในเรื่องโรคและแมลง เช่นเพลี้ยแป้ง ราดำ และมด ชาวสวนต้องจัดการดูแลเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ สวนทุเรียนต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) คือ 1) แหล่งน้ำ น้ำที่ใช้ต้องได้จากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรค หรือไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี และโลหะหนักที่เป็นอันตราย 2) พื้นที่ปลูก ต้องเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีความเสี่ยงจากวัตถุอันตรายและจุลินทรีย์ ที่จะทำให้เกิดการตกค้างหรือปนเปื้อนในผลิตผล 3) การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร ต้องใช้เฉพาะที่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้อง และไม่ใช้วัตถุอันตรายที่ประกาศห้ามใช้ มีการใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดและมีการเก็บดูแลวัตถุอันตรายต่างๆที่ถูกต้องและปลอดภัย 4) สถานที่เก็บรักษาผลผลิต อุปกรณ์ต่างๆ ยานพาหนะในการขนย้ายผลผลิตต้องมีคุณสมบัติป้องกัน การปนเปื้อนของวัตถุอันตราย ศัตรูพืช และพาหะของโรค รวมทั้งต้องมีการขนย้ายผลผลิตด้วยความระมัดระวัง 5)การบันทึกสิ่งที่ปฏิบัติต่างๆในแปลง ต้องมีบันทึกการใช้สารเคมี วัตถุอันตรายทางการเกษตร มีบันทึกการตรวจโรคแมลงศัตรูพืชในแต่ละระยะของการเจริญเติบโตของพืช มีการบันทึกวิธีการดำเนินงานการจัดการต่างๆในแปลง 6)ผลผลิตต้องปลอดจากศัตรูพืช มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามคำแนะนำและผลผลิตที่คัดแยกต้องไม่มีโรคและแมลง 7)การจัดการผลผลิตเพื่อให้ได้คุณภาพนั้นต้องมีการวางแผนการจัดการคุณภาพผลผลิตพืชและมีการบันทึกข้อมูลการดำเนินการต่างๆ ถ้ามีผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพต้องมีการคัดแยกออก 8) การเก็บเกี่ยวและวิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวต้องมีการควบคุมไม่ให้ก่อความเสียหายแก่ผลผลิตเช่นการเก็บจากแปลง การขนย้าย การคัดแยก การบรรจุ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อนสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

สำหรับปัญหาในการส่งออกทุเรียนไปอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดรองของไทยนั้น ปัญหาในการส่งออกทุเรียนของไทยมาจากการประกาศมาตรการนำเข้าพืชสวน และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ของอินโดนีเซีย (Importation of Horticultural Products, Animals and Animal Products) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2555 เป็นต้นมา สินค้าพืชสวนสดและแปรรูปจำนวน 57 รายการที่ได้รับผลกระทบ ต่อกฎกระทรวงเกษตรและกระทรวงการค้าได้ออกกฎระเบียบใหม่ในการกำหนดระยะเวลาในการยื่นขอใบรับรองการนำเข้า (RIPH) จากกระทรวงเกษตร และหนังสือรับรองการนำเข้า (Import Approval) จากการกระทรวงการค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556

จากมาตรการฯดังกล่าว สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ หอมแดง ทุเรียน และลำไยจึงทำให้การส่งออกทุเรียนของไทยไปอินโดนีเซียในปี 2556 มีมูลค่าลดลงจากปี 2555 ถึงร้อยละ 67.9 โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกทุเรียนไปอินโดนีเซียรวม 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมาตรการฯ ดังกล่าวเป็นมาตรการที่กีดกันการนำเข้าทุเรียนจากไทย เพื่อปกป้องการผลิตทุเรียนภายในของอินโดนีเซีย ในช่วงที่อินโดนีเซียผลิตทุเรียนได้เอง ทั้งนี้ ช่วงที่การส่งออกทุเรียนของไทยมีปัญหา คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขอุปสรรค และปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาในกรอบพหุภาคี หรือทวิภาคี เพื่อผลักดันและส่งเสริมการส่งออกทุเรียนให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกร หรือผู้ส่งออกทุเรียนควรปรับปรุงคุณภาพการผลิต อีกทั้ง ปรับตัวในการเรียนรู้กฎระเบียบในการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้นเนื่องจากแต่ละประเทศต่างมีการกำหนดกฎระเบียบการนำเข้าที่แตกต่างกัน รวมทั้งผู้ส่งออกทุเรียนควรคิดค้นแนวทางพัฒนาสินค้าทุเรียนแปรรูปในการส่งออกเพื่อเพิ่มมูลค่าต่อไป

ส่วนสินค้าเกษตร สำนักการค้าสินค้า

กันยายน 2557

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ