จับตาสหรัฐฯ กับการออกกฎหมายใหม่อาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 20, 2014 15:29 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

จากการเปิดเสรีทางการค้าของไทยกับประเทศคู่เจรจา ปัจจุบันได้มีการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันจนเกือบไม่มีอุปสรรคทางด้านภาษีแล้ว ดังนั้น มาตรการภาษีคงจะไม่ใช่ปัญหาสำคัญทางการค้าของไทยอีกต่อไป แต่ในทางกลับกันมาตรการที่มิใช่ภาษีนับวันจะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆ ได้มีแนวโน้มในการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี มาเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศแทนมาตรการภาษี จนทำให้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการกีดกันทางการค้า และส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

โดยจะเห็นได้จากการที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ได้นำมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาใช้ เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศ จากกฎหมาย Farm Bill 2008 ซึ่งเสนอโดยวุฒิสภา Thad Cochran จากพรรคริพับลิกัน มลรัฐมิสซิสซิปปี ที่เป็นแหล่งหลักในการผลิตปลาดุก (Catfish) ของสหรัฐฯ โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (United States Department of Agriculture : USDA) ซึ่งปกติกำกับดูแลสินค้าเนื้อโค เนื้อสุกร และเนื้อสัตว์ปีกเท่านั้น มาดำเนินโครงการ Catfish Inspection Program ในการตรวจสอบสินค้ากลุ่มปลาดุก (Catfish) ที่นำเข้าจากต่างประเทศแทนองค์การอาหารและยาภายใต้กระทรวงสาธารณสุข (U.S. Food and Drug Administration : USFDA) ที่กำกับดูแลเนื้อสัตว์และอาหารทะเลอื่นๆนอกเหนือจากอำนาจของ USDA โดย USDA ได้เพิ่มการตรวจสอบสินค้ากลุ่มปลาดุกให้มีความเข้มงวดและมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับมาตรการควบคุมเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกับผู้ผลิตในสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยในการบริโภค แต่แท้จริงน่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องผู้ผลิตสินค้ากลุ่มปลาดุกภายในประเทศที่จะต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศในแถบเอเชียที่มีราคาถูกกว่าที่ผลิตได้ในสหรัฐอเมริกา แต่ในทางปฏิบัติ USDA ไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติต่างๆ ในกฎหมายได้ เนื่องจากขาดทรัพยากร (เงิน ความรู้และบุคคลากร) ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 5 ปีของ Farm Bill 2008 USDA จึงไม่ได้ทำการตรวจสอบกลุ่มปลาดุกตามที่กฎหมายกำหนดไว้

จากการประกาศใช้กฎหมาย Farm Bill 2014 ฉบับใหม่ และเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ได้ให้อำนาจ USDA สามารถขยายขอบเขตการตรวจของสินค้าเพิ่มขึ้น ได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนในสภา Congress อีกด้วย เนื่องจากผู้ผลิตปลาภายในประเทศได้เรียกร้องให้ขยายการตรวจสอบไปยังสินค้าปลาสกุลอื่นๆ และกุ้ง เป็นต้น ดังนั้น สินค้าประมงและอาหารทะเลชนิดอื่นๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทย อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่ฉบับดังกล่าว เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลถึงร้อยละ 85 และส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศในเอเชียและอาเซียน และปลาเนื้อขาวในกลุ่มปลาดุก(ปลาดุก ปลาสวาย ปลาเทพา) ของไทยสามารถเป็นสินค้าทดแทนสินค้าปลาและอาหารทะเลของสหรัฐฯ ได้ ดังนั้นมาตรการดังกล่าวจึงอาจเป็นการเพิ่มอุปสรรคทางการค้าในการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลของประเทศในอาเซียนและไทยที่ต้องจับตามองต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แหล่งข้อมูลอ้างอิง : 1) สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน 2) USDA Catfish Inspection Program : Request for Immediate Assistance, Website www.thai-frozen.or.th สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย 3) ผลกระทบของกฎหมาย FARM BILL 2008 ต่อเศรษฐกิจการเกษตร, Website www.oae.go.th สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ