ระบบการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของสหภาพยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 4, 2014 15:36 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐซึ่งถือเป็ นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายการค้ายุคใหม่ของสหภาพยุโรป ภายใต้ "Europe 2020 strategy" ซึ่งมีเป้าหมายให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพฯ เป็ นไปอย่างยั่งยืน นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการมีระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low-carbon economy) โดยส่งเสริมนวัตกรรมในภาคธุรกิจ การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อให้การใช้เงินกองทุนสาธารณะ (public funds) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการปฏิรูปดังกล่าว สหภาพยุโรปได้มีการปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และได้ประกาศใช้กฎระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยกฎระเบียบใหม่นี้เป็นการกำหนดระเบียบใหม่และปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างที่มีอยู่เดิมที่สำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ระเบียบว่าด้วยการประมูลสัญญาสัมปทาน (award of concession contracts) 2) ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการสาธารณะ (public sector procurement) และ 3) ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภค (utilities sector procurement เช่น ประปา พลังงาน ขนส่ง ไปรษณีย์) ในภาพรวมกฎระเบียบใหม่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความซับซ้อนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง สร้างความชัดเจนทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ภายใต้กฎระเบียบฉบับใหม่นี้ สหภาพยุโรปยังคงมีพันธกรณีในการเปิ ดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐซึ่งกำหนดโดยมูลค่าขั้นต่ำในการเปิดตลาด (Thresholds) ตามที่ผูกพันไว้ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO GPA) อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบใหม่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของสหภาพยุโรป ดังนี้

  • ปัจจัยกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง – กฎระเบียบใหม่เน้นความคุ้มค่าของเงินในการจัดซื้อจัดจ้าง จึงยกเลิกหลักการเดิมที่พิจารณาเรื่องราคาเป็นสำคัญเพียงอย่างเดียว โดยหันมาพิจารณาข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด (most economically advantageous tender – MEAT) ซึ่งเงื่อนไขที่นำมาพิจารณานั้นจะคำนึงถึงปัจจัยเรื่องคุณภาพ การคำนึงถึงผลประโยชน์หรือผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมนวัตกรรมร่วมกับปัจจัยด้านราคาในการจัดซื้อ นอกจากนี้ ระเบียบใหม่ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตลอดอายุผลิตภัณฑ์ (life-cycle cost) ซึ่งรวมถึงผลกระทบภายนอก เช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยปัจจัยเหล่านี้ หน่วยงานที่จัดซื้ออาจกำหนดให้สินค้าหรือบริการต้องผ่านการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมหรือแรงงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาจพิจารณาไปถึงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ เช่น การใช้ผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสในการผลิต และการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย เป็นต้น
  • กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ – ระเบียบใหม่กำหนดให้การติดต่อสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องดำเนินการโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ลดขั้นตอนทางเอกสารและปริมาณเอกสารโดยมีการใช้ระบบรับรองความถูกต้องของเอกสารต่างๆ ด้วยตนเองในการคัดเลือกผู้ประมูล และผู้ที่ชนะการประมูลเท่านั้นที่จะต้องนำส่งเอกสารต้นฉบับ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการยื่นคำเสนอขอประมูลให้สั้นลง นอกจากนี้ ระเบียบใหม่เปิ ดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐสามารถขึ้นบัญชี blacklistบริษัทที่มีประวัติล้มเหลวหรือมีปัญหาในการส่งมอบงานที่ประมูลได้
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ SMEs – ระเบียบใหม่ส่งเสริมให้แบ่งการจัดซื้อจัดจ้างออกเป็นส่วนๆ และกำหนดผลประกอบการของบริษัทที่เข้ารับงานให้มีขั้นสูงสุดเพียงสองเท่าของมูลค่าของงานประมูล ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัท SMEs เข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลงานต่างๆ ของรัฐได้มากขึ้น
  • เพิ่มความยืดหยุ่นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง – ระเบียบใหม่กำหนดให้มีกระบวนการเจรจาต่อรองรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Competitive Procedure with Negotiation ซึ่งจะนำมาใช้ในกรณีที่โครงการมีความซับซ้อนหรือมีปัจจัยด้านการเงินหรือกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐเรียกบริษัทที่ยื่นคำเสนอขอประมูลงานมาหารือและให้บริษัทยื่นคำเสนอขอประมูลงานอีกครั้งภายหลังการหารือ นอกจากนี้ ระเบียบใหม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานผู้จัดจ้างกับบริษัท (Innovation Partnership) โดยอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัทในการพัฒนาสินค้า บริการ หรือโครงการเพื่อให้ตรงกับความต้องการของหน่วยงานตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ซึ่งต่างจากระเบียบเดิมที่ไม่อนุญาตให้ผู้ประมูลงานได้ติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานภาครัฐ ก่อนที่จะมีการประกาศเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลและข้อกำหนดทางเทคนิค
  • สร้างความแน่นอนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง – ในกรณีที่เป็นการจัดจ้างเพื่อดำเนินโครงการระยะยาวซึ่งหน่วยงานภาครัฐผู้จัดจ้างอาจมีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตงาน ระเบียบใหม่กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาแบบมีนัยสำคัญเท่านั้นที่จะต้องเริ่มต้นกระบวนการประมูลใหม่ ซึ่งต่างจากระเบียบเดิมที่ไม่ได้กำหนดแนวปฏิบัติในกรณีที่มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนสัญญา ทำให้การเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องเข้าสู่กระบวนการประมูลใหม่ นอกจากนี้ ระเบียบใหม่นี้ถือเป็นครั้งแรกที่กำหนดให้การจัดทำสัญญาสัมปทาน (concession contracts)มีมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งสหภาพยุโรป โดยได้กำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับการเผยแพร่ประกาศและการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลซึ่งเดิมไม่เคยมีการกำหนดไว้

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกมีระยะเวลา 2 ปี ในการปรับกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ดังกล่าว และในการจัดทำระบบการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-procurement) สามารถขอขยายระยะเวลาออกไปได้อีก 2 ปี 6 เดือน

นอกจากการออกระเบียบใหม่ดังกล่าวแล้ว สหภาพยุโรปยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของสหภาพฯ สำหรับสินค้าและบริการจากประเทศที่สาม โดยข้อเสนอของระเบียบใหม่ในเรื่องนี้มีแนวโน้มที่จะจำกัดการเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้าง โดยรัฐของสหภาพยุโรปต่อสินค้าและบริการ รวมถึงผู้ประกอบการจากประเทศที่สามที่ไม่ได้เปิ ดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐให้กับสหภาพยุโรปแบบต่างตอบแทน (reciprocity) ในระดับเดียวกันภายใต้การจัดทำความตกลงระหว่างประเทศกับสหภาพฯ ซึ่งข้อเสนอนี้มีจุดมุ่งหมายให้สหภาพยุโรปสามารถเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของประเทศคู่ค้ามากขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการค้าภายใต้ "Europe 2020 strategy" ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการจากประเทศที่สามที่ต้องการเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของสหภาพยุโรป นอกจากการผลิตสินค้าและบริการที่จะต้องคำนึงถึงประเด็นทางสังคม เช่น แรงงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรฐานสากลต่างๆ ในกระบวนการผลิตแล้ว นโยบายในการเปิ ดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในประเทศของตนนั้นก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะกำหนดโอกาสในการเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของสหภาพฯ

สำนักยุโรป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กันยายน 2557

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ