ข้อบังคับการติดฉลาก COOL กำหนดให้ผู้ค้าปลีกต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงที่มาของเนื้อวัวและเนื้อหมูที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯ ผ่านการติดฉลากบนห่อบรรจุภัณฑ์ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวได้สร้างความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับผู้ค้าปลีกสหรัฐฯ ที่ต้องแบกภาระในการติดตามแหล่งที่มาของเนื้อวัวและเนื้อหมูที่ตนจำหน่ายโดยเฉพาะความยุ่งยากในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ห่วงโซ่การผลิต เช่น เนื้อวัวที่ได้จากวัวที่เกิดในประเทศหนึ่ง ถูกเลี้ยงในประเทศหนึ่ง และถูกฆ่านำมาผลิตเป็นสินค้าอีกประเทศหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งผู้ค้าปลีกก็จะต้องติดตามข้อมูลเหล่านี้เพื่อดูว่าเนื้อสัตว์ที่ตนวางจำหน่ายเข้าข่ายเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศใดตามข้อบังคับฉลาก COOL
เมื่อปี 2552 แคนาดาและเม็กซิโกซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวได้ยื่นฟ้องสหรัฐฯ ต่อองค์กรระงับข้อพิพาท WTO ซึ่งคณะผู้พิจารณา (Panel) และองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ของ WTO ต่างมีคำตัดสินในทิศทางเดียวกันว่า ข้อบังคับฉลาก COOL ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันระหว่างสินค้าที่ผลิตในประเทศและสินค้านำเข้า โดยภาระที่เกิดจากการติดตามแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์นำเข้า ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกหลายรายหันมาจำหน่ายเนื้อวัวและเนื้อหมูที่เลี้ยงและผลิตในสหรัฐฯ แทนสินค้านำเข้าเพื่อลดภาระดังกล่าว ข้อบังคับฉลาก COOL จึงเข้าข่ายเป็นมาตรการเลือกปฏิบัติที่ขัดกับกฎเกณฑ์ WTO ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวก็ส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องปรับแก้ข้อบังคับฉลาก COOL ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ WTO ภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2556
ต่อมา ฝ่ายสหรัฐฯ ได้ปรับแก้ระเบียบข้อบังคับฉลาก COOL โดยเพิ่มรายละเอียดของฉลากบนห่อบรรจุภัณฑ์ให้กำหนดแหล่งที่มาของเนื้อทั้งในส่วนสถานที่เกิด สถานที่เลี้ยงดู และสถานที่ผลิต เพื่อให้ผู้ค้าปลีกสามารถติดตามแหล่งกำเนิดอย่างเป็นระบบและช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น อย่างไรก็ดีแคนาดาและเม็กซิโกเห็นว่าข้อบังคับฉลาก COOL ของสหรัฐฯ ฉบับปรับปรุง ยังคงมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ WTO จึงได้ยื่นฟ้อง WTO อีกครั้งเพื่อตัดสินว่าสหรัฐฯ ได้ปรับแก้มาตรการตามคำตัดสินขององค์กรระงับข้อพิพาท WTO แล้วจริงหรือไม่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 คณะผู้พิจารณาของ WTO (Compliance Panel) ก็ได้ตัดสินว่า ข้อบังคับฉลาก COOL ฉบับปรับปรุงของสหรัฐฯ ยังคงเป็นมาตรการที่เลือกปฏิบัติและส่งผลกระทบทางการแข่งขันระหว่างเนื้อสัตว์ที่ผลิตในสหรัฐฯ กับเนื้อสัตว์นำเข้า เพราะการติดฉลาก COOL ยังคงทำให้ผู้ค้าปลีกต้องติดตามที่มาของเนื้อสัตว์ทั้งสถานที่เกิด สถานที่เลี้ยงดู และสถานที่ผลิต ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ค้าปลีกและเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ค้าปลีกสหรัฐฯ ให้ซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ดังนั้นสหรัฐฯ จึงตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อีกครั้ง
ตามกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO สหรัฐฯ มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวของคณะผู้พิจารณาซึ่งเป็นโอกาสสุดท้ายที่สหรัฐฯ จะพิสูจน์ตัวเองว่าได้ปรับแก้ข้อบังคับฉลาก COOL ตามคำตัดสินของ WTO แล้วซึ่งหากองค์กรอุทธรณ์ยังคงไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ ก็จะส่งผลให้แคนาดาและเม็กซิโกมีสิทธิใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยอาจอยู่ในรูปแบบของการขึ้นภาษีสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งออกไปแคนาดาและเม็กซิโกคิดเป็นมูลค่าเท่ากับความเสียหายที่ประเทศผู้ฟ้องได้รับจากการใช้มาตรการฉลาก COOL
ที่มา : Summary of Key Findings. United States — Certain Country of Origin Labelling (COOL) Requirements
WTO. Available at: http://www.wto.org/english/tratop_e/dispu_e/cases_e/ds384_e.htm
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630