การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 (the 9th WTO Ministerial Conference:MC9) ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย สามารถสรุปผลลัพธ์ที่เรียกว่า Bali Package โดยมี “ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Agreement on Trade Facilitation: TFA)1” เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญ มติรัฐมนตรี MC9 ได้กำหนดให้สมาชิกดำเนินงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องหลังจากความสำเร็จจากการเจรจาที่บาหลี (post-Bali work) ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ (1) post-Bali implementation การปฏิบัติตามข้อตกลง MC9 และ(2) post-Bali work program การจัดทำแผนงานเจรจาเพื่อกำหนดขอบเขตประเด็นเจรจาที่ต้องการผลักดันภายใต้การเจรจาการค้ารอบโดฮา (Doha Development Agenda: DDA) โดยเฉพาะเรื่องสินค้าเกษตร (Agriculture)สินค้าอุตสาหกรรม (NAMA) และบริการ (Services) รวมทั้งเรื่องอื่นๆด้วย ทั้งนี้ สมาชิกจะต้องจัดทำ work program ให้เสร็จภายใน 1 ปี (ภายในกลางเดือนธันวาคม 2557)
แต่เมื่อมาเข้าสู่กระบวนการเพื่อปฏิบัติตามมติรัฐมนตรี MC9 นั้นกลับมีความยุ่งยากเกิดขึ้น เนื่องจากอินเดียคัดค้านการรับรองพิธีสารที่จะนำไปสู่การบังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยนำไปผูกโยงกับเรื่อง "ความมั่นคงทางอาหาร" ภายใต้หัวข้อการคงคลังสินค้าของรัฐบาลเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (PublicStockholding for Food Security)2 ทำให้การปฏิบัติตามมติ MC9 โดยเฉพาะเรื่อง TFA ต้องหยุดชะงักและอาจมาถึงทางตัน เนื่องจากอินเดียมิยอมประนีประนอมต่อข้อเสนอใดๆ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ตามรายงานของผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) กล่าวว่า หลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ได้มีการหารือทวิภาคีในประเด็นเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและความมั่นคงทางอาหาร เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557
ในที่สุด อินเดียและสหรัฐฯ ก็สามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นทางออกของภาวะความชะงักงันในการเจรจาภายใต้เวทีองค์การการค้าโลกได้ อย่างไรก็ดี ข้อตกลงทวิภาคีดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่การหารือร่วมกับสมาชิกองค์การการค้าโลกทั้งหมด เพื่อให้ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทุกประเทศต่อไป
นาย Roberto Azev?do ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ได้แสดงความยินดีต่ออินเดียและสหรัฐฯ ที่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ หลังจากที่การเจรจาประสบปัญหาชะงักงันตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา โดยนาย Roberto กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ Bali Package และการเจรจาในกรอบพหุภาคีกลับฟื้นคืนมา ซึ่งการปฏิบัติตามมติรัฐมนตรี MC9 นั้นถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกทั้งหมดได้รับประโยชน์ถ้วนหน้า
สิ่งที่ประเทศสมาชิกจะต้องเตรียมพร้อมต่อไป คือ การจัดทำมาตรการถาวร (Permanent Solution) สำหรับการคงคลังสินค้าของรัฐบาลเพื่อความมั่นคงทางอาหาร การบังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา และประเด็นของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ท้ายสุด สมาชิกองค์การการค้าโลกจะต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดทำ Post-Bali work program ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630