ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของสหภาพยุโรปและเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 11, 2014 13:57 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

พลังงานมีความสำคัญเนื่องจากทุกชีวิตมีความจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานในการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นพลังงานยังมีบทบาทสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ โดยในระดับโลกสหภาพยุโรปนับเป็นผู้นำด้านพลังงานคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเยอรมนีซึ่งมีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในระดับที่ก้าวหน้ามาก สำหรับไทยนั้นต้องการที่จะมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพลังงานในหลายสาขา การบรรยายครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานและการบริหารจัดการพลังงานของไทยต่อไปในอนาคตโดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของสหภาพยุโรปและเยอรมนี

นโยบายด้านพลังงานของสหภาพยุโรปและเยอรมนี

ภาพรวมและแนวโน้มด้านพลังงาน แหล่งพลังงานในปัจจุบันมี 3 ประเภทหลักคือ 1) เชื้อเพลิงฟอสซิล 2)พลังงานหมุนเวียน และ 3) พลังงานนิวเคลียร์ โดยในประเทศ OECD มีการใช้ฟอสซิลมากที่สุด รองลงมาคือพลังงานนิวเคลียร์ และที่น้อยที่สุดคือพลังงานหมุนเวียน สำหรับประเทศในเอเชียมีการใช้ฟอสซิลมากที่สุดเช่นกัน รองลงมาคือพลังงานหมุนเวียน และที่น้อยที่สุดคือพลังงานนิวเคลียร์ แนวโน้มของโลกในปัจจุบันมีการใช้พลังงานสูงขึ้นมากหลังจากช่วงปี 1950 ทำให้มีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่เชื้อเพลิงฟอสซิลกลับมีปริมาณลดลงนอกจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตซึ่งส่งผลต่อนโยบายการนำเข้าพลังงานของประเทศต่างๆ รวมทั้งมีความท้าทายในส่วนของราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ความไม่แน่นอนของปริมาณพลังงาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นโยบายของเยอรมนี เน้นว่าจะต้องไม่เพิ่มระดับคาร์บอนจึงให้ความสำคัญกับการใช้ฟอสซิลให้น้อยลงและหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก นอกจากนั้นเยอรมนียังไม่ต้องการที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์ในอนาคตเพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เหมือนกรณีเชอร์โนบิลและอุบัติเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นญี่ปุ่น เยอรมนีจึงคาดว่าจะยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี 2022 และจะไม่นำเข้าพลังงานนิวเคลียร์จากต่างประเทศ โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นประเทศที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้มีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจาก 5% ในปี 2000 เป็น 25% ในปี 2012 โดยเน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งพลังงานลม โดยในปัจจุบันเยอรมนีมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลาย ได้แก่ 1) พลังงานลมซึ่งมีการใช้มากที่สุด 2) พลังงานชีวภาพ 3) พลังงานแสงอาทิตย์ และ 4) พลังงานน้ำ ในอนาคตเยอรมนีต้องการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มาก ขึ้นอีก และจะพยายามลดการบริโภคพลังงานลงเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายในการผลิตพลังงาน นอกจากนั้นเยอรมนียังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน โดยภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงาน ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนซึ่งมีการติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อผลิตพลังงานใช้เอง และใช้กระจก 2 ชั้นเพื่อประหยัดพลังงาน

นโยบายของสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกต่างเห็นพ้องว่าการจัดการด้านพลังงานต้องดำเนินการในระดับสหภาพยุโรป มากกว่าการจัดการในระดับประเทศซึ่งไม่เพียงพอ โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนา การดำเนินการในระดับสหภาพฯ จะมีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุนได้มากกว่า ประเทศสมาชิกจึงมีความร่วมมือกันด้านพลังงานและมีการกำหนดนโยบายพลังงานร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย และลดการใช้ฟอสซิลเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำการลดการใช้ฟอสซิลของโลก ซึ่งในช่วงปี 1990-2011 ประเทศที่ลดก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุดในสหภาพยุโรป คือฮังการี อังกฤษ เยอรมนี สวีเดน และฝรั่งเศส

พลังงานในบริบทอาเซียน มีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากมีการพัฒนาเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanisation) ในหลายประเทศ และมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุทกภัยจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งประสบปัญหาจากภัยแล้ง ดังนั้นประเทศสมาชิกจึงสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงานในระดับอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2007 โดยไทยนับเป็นผู้นำด้านการปฏิรูปพลังงานในอาเซียน

พลังงานในบริบทของไทย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความต้องการพลังงานสูงมาก โดยภาครัฐได้จัดทำโครงการในหลากหลายมิติเพื่อลดการใช้พลังงาน แต่ไม่ต้องการใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยในประเทศไทยมี 2ส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงมากคือการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งการหันไปใช้กระจก 2 ชั้นเหมือนในเยอรมนีจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าลงได้มาก และในภาคขนส่งซึ่งใช้พลังงานสูงเนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัด

แนวทางการพัฒนาด้านพลังงานในอนาคต ไทยและสหภาพยุโรปมีมุมมองที่คล้ายกันในหลายมิติของการพัฒนาพลังงาน อาทิ ความต้องการลดการใช้พลังงานและเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน รวมทั้งความกังวลต่อการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการร่วมมือกันด้านพลังงานในอนาคตนอกจากนั้น ไทยยังสามารถเรียนรู้ข้อมูลด้านเทคนิคในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากเยอรมนีซึ่งมีความก้าวหน้ามากในมิติของเทคโนโลยีด้านพลังงานในระดับโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ