การเจรจารอบโดฮาที่เริ่มเจรจามาตั้งแต่ 2545 มีความแตกต่างจากรอบอุรุกวัย ปี 2538 ซึ่งในครั้งนั้นประเทศพัฒนาแล้วมีบทบาทสูงในการเจรจา ทำให้ได้ความตกลงเกษตรที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในการเจรจารอบโดฮา บทบาทของประเทศกำลังพัฒนาทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับในระบบการค้าโลก อาทิ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม การเจรจารอบโดฮาซึ่งดำเนินมากว่า 10 ปี ก็ยังไม่สามารถสรุปผลได้ ล่าสุด เมื่อ ปี 2554 WTO เคยเกือบสามารถสรุปการเจรจา แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ โดยในเรื่องเกษตรมีเอกสารร่างผลการเจรจาข้อตกลงในการลดภาษีและข้อยกเว้นของการไม่ต้องลดภาษีการอุดหนุนภายใน และการอุดหนุนส่งออก เรียกกันสั้นๆ ว่า Rev.4 ซึ่งเอกสารดังกล่าวก็ยังใช้อ้างอิงจนถึงปัจจุบัน
ท่าทีของสมาชิกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายสำคัญ ระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารหรือกลุ่ม G33 กับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งกลุ่ม G33 มีอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เป็นแกนนำต้องการจำกัดการเปิดตลาดสินค้าเกษตร และยืนยันว่าการเจรจาจะต้องใช้เอกสาร Rev.4 ซึ่งร่างขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เป็นพื้นฐานการเจรจาโดยเหลือประเด็นเจรจา อาทิ การยกเว้นไม่เปิดตลาดสินค้าพิเศษบางประเภทการอนุญาตให้สมาชิกสามารถขึ้นภาษีได้ หากมีสินค้านำเข้ามีปริมาณสูงกว่าที่กำหนดหรือราคานำเข้าต่ำกว่าที่กำหนด
นอกจากนี้ กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังมีความพยายามผลักดันให้มาตรการการสำรองสินค้าพืชอาหารหลักที่รัฐรับซื้อต่ำกว่าราคาตลาดซึ่งเป็นการบิดเบือนตลาด ให้เข้าข่ายได้รับการยกเว้นภายใต้ความตกลงเกษตรและสามารถทำได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ เห็นว่าควรพิจารณาสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและเจรจาด้านเกษตรให้สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าว หรืออาจกล่าวได้ว่า กลุ่มนี้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการค้าปัจจุบัน จึงควรต้องการเปิดเสรีสินค้าเกษตรของประเทศเหล่านี้ ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว
ในปี 2558 ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร จะเข้าร่วมการเจรจาในฐานะผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ จะพยายามผลักดันให้มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ อื่นๆ นอกจากเรื่องการเปิดตลาด ไทยจะได้รับผลประโยชน์หากมีกฎเกณฑ์ด้านการอุดหนุนภายในที่รัดกุมและมีการยกเลิกการอุดหนุนส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร มีโอกาสขยายตลาดในประเทศอื่นอย่างเสรีและเป็นธรรม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630