นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ผู้นำจะติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 ให้นโยบายเกี่ยวกับการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีกฎกติกา มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหามาตรการที่มิใช่ภาษีอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรเพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นคลังอาหารของโลก การสร้างความเข้มแข็งแก่ SMEs และส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์กับภายนอก
โดยในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ จะมีการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการค้าและการลงทุนกับผู้นำภาคเอกชนของอาเซียน ซึ่งในปีนี้ประเด็นที่นำเสนอเพื่อการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การจัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSME Bank) การจัดให้มีช่องทางเข้าเมืองสำหรับคนจากอาเซียน ณ จุดเข้าเมืองต่างๆ (ASEAN Lane) การปรับปรุงเว็บไซต์สำนักเลขาธิการอาเซียน เป็นต้น สำหรับประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญได้แก่ การสร้างความแข็มแข็งให้ SMEs เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่ ผลักดันให้มีการลด/เลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) การปรับประสานมาตรฐาน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า
นางอภิรดี กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 13เป็นเวทีที่ดูแลภาพรวมในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ประชุมจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ซึ่งขณะนี้อาเซียนสามารถดำเนินการตามมาตรการสำคัญได้ร้อยละ 90.5 โดยคงเหลือ 48 มาตรการ ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ส่วนไทยดำเนินการตามมาตรการสำคัญได้ร้อยละ 93.3 โดยเหลือ 34 มาตรการ ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2558 เช่น การลงนามและให้สัตยาบันข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 10 การให้สัตยาบันพิธีสาร 7 แนบท้ายความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะติดตามความคืบหน้าในประเด็นอื่นๆ ได้แก่ การจัดทำร่างเอกสารกรอบวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2025 ซึ่งจะเป็นแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Blueprint ฉบับใหม่ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากพอสมควรแล้ว โดยมีกำหนดที่จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 47 พิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารในเดือนสิงหาคมนี้ โดยคาดว่าหลังปี 2558 อาเซียนจะมีการรวมกลุ่มอย่างเข้มข้น โดยจะเปิดเสรีเพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการปรับประสานมาตรฐาน กฎระเบียบต่างๆให้สอดคล้องกันมากขึ้น
นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ครั้งที่ 13 จะมีการพิจารณาประเด็นสำคัญ ได้แก่ ผลการดำเนินการตามแผนงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปฉบับปี 2013-2014 และให้ความเห็นชอบแผนงานฯ ฉบับใหม่ ปี 2015-2016 การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจโลกและการขยายความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค ความก้าวหน้าของการเจรจาในเวทีพหุภาคีและทวิภาคี รวมถึงการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศสมาชิกอาเซียนรายประเทศ และความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ กิจกรรมภายใต้แผนดำเนินการด้านการค้าและการลงทุนฉบับใหม่ จะเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างภูมิภาคในรายสาขาที่สนใจร่วมกัน ซึ่งสาขาเดิมที่จะดำเนินการต่อเนื่อง เช่น สาขาบริการ พลังงาน การขนส่งทางอากาศ ส่วนรายสาขาใหม่ที่ได้กำหนดร่วมกัน เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรฐานต่างๆ พิธีการศุลกากร การลงทุน และประเด็นการค้าใหม่ๆ โดยจะเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญของสองภูมิภาค รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากเอกชนเข้าร่วมเพื่อกำหนดประเด็นอุปสรรคและการแก้ปัญหา ตลอดจนการมีส่วนร่วมระหว่างกันในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันในอนาคต
ปัจจุบัน อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยการค้าของไทยกับอาเซียนในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 1แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 22 ของการค้าไทยกับทั่วโลก ทั้งนี้ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอาเซียน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอาเซียน ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630