ทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 8, 2015 16:42 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความคาดหวังที่สำคัญหนึ่ง สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ คือ การได้เห็นวิสัยทัศน์และแผนงานการรวมตัวของประชาคมอาเซียนในระยะ 10 ปีข้างหน้า (2559-2568) ซึ่งเชื่อว่า ทั่วโลกกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงการรวมตัวของประชาคมอาเซียนในอนาคต โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญหนึ่งของโลก ว่าจะมีแนวโน้ม/ทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึงนัยสำคัญต่อประเทศไทย

การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 เมื่อผู้นำอาเซียนได้แสดงเจตนารมณ์ดังกล่าวในเอกสารสำคัญที่มีชื่อว่า "The Bandar Seri Begawan Declaration on the ASEAN Community's Post-2015 Vision" และต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบองค์ประกอบหลักของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายใต้ปฏิญญาเนปิดอร์ว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 ซึ่งครอบคลุม 3 เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อเป็นพื้นฐานและแนวทางในการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนให้มีความสมบูรณ์ต่อไป พร้อมทั้งให้มีการจัดทำแผนงานฉบับใหม่ และจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 (High Level Task Force: HLTF) โดยมีเป้าหมายที่จะเสนอวิสัยทัศน์ฯ และแผนงานดังกล่าวต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ในเดือนพฤศจิกายน 2558

ในการดำเนินงานของเสาเศรษฐกิจ ขณะนี้คณะทำงานว่าด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายหลังปี 2558 (The HLTF-EI Working Group on AEC Post-2015 Vision) อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 บนพื้นฐานขององค์ประกอบหลักของเสาเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย (1) มีการรวมตัวสูง (2) มีความสามารถการแข่งขัน นวัตกรรม และพลวัต (3) ครอบคลุมทุกภาคส่วน ยืดหยุ่น และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (4) ขยายความร่วมมือและรวมตัวรายสาขา และ (5) เป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก โดยมุ่งหวังที่จะให้อาเซียนมีการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและพลังงานสีเขียว ลดช่องว่างด้านการพัฒนา ยึดถือหลักธรรมาภิบาล (good governance) ความโปร่งใสกฎเกณฑ์ทางการค้า (rule-based) และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพิ่มประสิทธิภาพกลไกการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยส่งเสริมการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเชื่อมโยงอาเซียน เสริมสร้างขีดความสามารถของอาเซียนในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น รักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน เพิ่มบทบาทและหาท่าทีร่วมกันของอาเซียนในเวทีเศรษฐกิจต่างๆของโลก

การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนภายหลังปี 2558 เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่ได้รับความสนใจในวงกว้างโดยที่ผ่านมาได้มีผลการศึกษาขององค์กรระหว่างประเทศและนักวิชาการต่างๆ ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะถึงทิศทางการดำเนินการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต โดยมีผลการศึกษาที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ผลการศึกษาเรื่อง "The AEC beyond 2015" จัดทำโดย the Rajaratnam School of International Studies และ Institute of Southeast Asian Studies (RSIS/ISEAS) ได้ศึกษาความคืบหน้าการดำเนินการสู่ AEC ใน ปี 2558 และประเด็นความท้าทายทั้งในระดับโลกและภูมิภาคที่อาเซียนต้องเผชิญ อาทิ สภาวะการชะลอตัวของ
เศรษฐกิจโลก ความมั่นคงทางอาหาร ความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และได้เสนอวิสัยทัศน์ใหม่ คือ “AEC plus 2025” โดยเห็นว่า (1) ควรผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของโลกและภูมิภาค โดยการลด/ยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกการค้า การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ การขนส่ง โลจิสติกส์และ เทคโนโลยีสารสนเทศ การเปิดเสรีการค้าบริการมากขึ้น การส่งเสริมการลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือ (2) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน โดยมุ่งเน้นความเชื่อมโยงอาเซียน เพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการแข่งขันและทรัพย์สินทางปัญญา (3) การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงโดยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ การพัฒนา SMEs ส่งเสริมยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร ส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (4) ส่งเสริมการเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค ได้แก่ การสรุปผลความตกลง RCEP และเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันอาเซียน
  • ผลการศึกษาเรื่อง “Moving ASEAN and AEC Beyond 2015” จัดทำโดยสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้ศึกษาถึงความคืบหน้าการดำเนินการสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และความท้าทาย รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนอาเซียนและ AEC ภายหลังปี 2558 โดยได้
เสนอวิสัยทัศน์ใหม่ คือ “ASEAN Miracle” ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น โดยเน้นการลด/ยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมโยงอาเซียน (2) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (3) การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร และพลังงาน การจัดการภัยพิบัติ และการพัฒนา SMEs และ (4) การเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และการปรับปรุงกลไกสถาบันของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้อาเซียนสามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว อาเซียนจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบภายใน และการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้น
  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADBI) ได้จัดทำผลการศึกษาเรื่อง " ASEAN 2030: Toward a Borderless Economic Community" โดยเห็นว่า หากอาเซียนมีนโยบายที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎระเบียบภายใน และมาตรการสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่เข้มข้น จะทำให้อาเซียนสามารถก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง (a truly borderless economic community) โดยมีเป้าหมาย คือ "RICH" ASEAN ประกอบด้วย (1) Resilience ยืดหยุ่นสูง สามารถรับมือกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงจากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว (2) Inclusiveness การพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน ลดช่องว่างด้านรายได้ (3) Competitiveness ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ยกระดับผลิตภาพการผลิต และนวัตกรรม (4) Harmony การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนควบคู่กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ADBI ได้คาดการณ์ว่า หากอาเซียนสามารถรวมตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มรายได้ประชากรถึง 3 เท่า จาก 3,000 เหรียญสหรัฐ ในปี 2010 เป็น 9,000 เหรียญสหรัฐ ในปี 2030 ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ต้องอาศัยการลดอุปสรรคการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาค เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า การค้าบริการ และปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรีอย่างแท้จริง รวมทั้งการปฏิรูปโครงสร้างภายในที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อม และการสร้างความเข้มแข็งแก่สำนักเลขาธิการอาเซียน

จากผลการศึกษาต่างๆ ข้างต้น พบว่า ข้อเสนอแนะส่วนใหญ่มีความเห็นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันกล่าวคือ อาเซียนควรมีการรวมตัวทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นทั้งภายในและภายนอก ในขณะเดียวกันอาเซียนจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงประเด็นความท้าทายใหม่ๆ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาเซียนต้องเผชิญ ทั้งนี้ แนวโน้มการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนภายหลังปี 2558 คาดว่าจะมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ได้อย่างเสรีมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาอัตราภาษีนำเข้าของอาเซียนได้ลดเป็นศูนย์เกือบทุกรายการสินค้าแล้ว แต่ความท้าทายในเรื่องมาตรการที่มิใช่ภาษียังคงมีอยู่ ดังนั้น การดำเนินงานของอาเซียนภายหลังปี 2558 จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ผ่านมาให้มีความเข้มขึ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน การปรับประสานมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบด้านเทคนิค พิธีการด้านศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น นอกจากสินค้าแล้ว การเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุนที่สูงขึ้น การอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือ จะนำไปสู่การขยายมูลค่าการค้าการลงทุนในอาเซียนได้อีกมาก
  • ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายที่เอื้อต่อการค้าการลงทุน อาทิ นโยบายแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค ทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว การส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกันในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การพัฒนาและการวิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าของอาเซียน จะช่วยให้อาเซียนสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นนอกภูมิภาค และสามารถเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานทั้งของภูมิภาคและโลกในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างความแข็มแข็งแก่ SMEs เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และลดช่องว่างด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค
  • เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จากการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) และการแสวงหาพันธมิตรการค้าใหม่ๆ ซึ่งจะสนับสนุนอาเซียนในการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก รวมทั้งส่งเสริมการมีท่าทีร่วมกันเพื่อผลักดันผลประโยชน์ของอาเซียนในเวทีต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม การสร้างประชาคมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง อาเซียนจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นความท้าทายใหม่ๆ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก โดยผลการศึกษาของ McKinsey Global Institute เรื่อง "Southeast Asia at the crossroads : Three paths to prosperity" ได้กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (global megatrends) 3 ด้าน ได้แก่ การขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศ การก้าวสู่การเป็นเมือง ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี โดยเห็นว่า หากอาเซียนมียุทธศาสตร์และนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดช่องว่างด้านการพัฒนา และการเชื่อมโยงในภูมิภาค

อาเซียนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 26 ของมูลค่าการส่งออกของไทยหากอาเซียนมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทย โดยนอกจากการเข้าถึงตลาดอาเซียนแล้ว ยังขยายไปถึงตลาดของความตกลง RCEP ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น 3,453 ล้านคน การยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีอย่างจริงจัง และมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่เป็นรูปธรรม จะช่วยให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และการลงทุนมีความคล่องตัวและสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างอาเซียนในด้านนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมพร้อมรองรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่จะมีความเข้มข้นขึ้น และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความตกลงต่างๆ อาเซียนทั้งที่มีอยู่แล้วและที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคต

ที่มา : Asian Development Bank Institute (ADBI) , ASEAN 2030 : Toward a Borderless Economic Community, July 2014

The Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA), ASEAN Rising: ASEAN and AEC Beyond 2015, January 2014

McKinsey Global Institute, Southeast Asia at the crossroads: Three paths to prosperity , November 2014

S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS) and Institute of Southeast Asian Studies (ISEAS), Vision Paper on the AEC beyond 2015, 2014

สำนักอาเซียน

ส่วนบริหารงานทวิภาคี

มีนาคม 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ