ภาวะตึงเครียดในตลาดแรงงานสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 11, 2015 16:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ตลาดแรงงานสิงคโปร์ยังคงเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน ด้วยอัตราการว่างงานร้อยละ 2 สร้างแรงกดดันให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจเพิ่มขึ้นตาม ในขณะที่ต้องแบกรับภาระค่าเช่าสำนักงานและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศที่ตึงเครียด รัฐบาลสิงคโปร์ได้ริเริ่มให้มีการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ ที่เรียกว่า Fair Consideration Framework (FCF) เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการลดข้อกังวลของสาธารณะ ในการเข้ามาทำงานของต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและการรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ในสิงคโปร์กลับเห็นว่ามาตรการดังกล่าวนำไปสู่การเพิ่มความซับซ้อนในการจ้างงานของนายจ้าง

ตามข้อกำหนดของ FCF นายจ้างสิงคโปร์มีข้อผูกพันที่จะต้องจ้างแรงงานชาวสิงคโปร์โดยให้มีการประกาศจ้างงานทางเว็บไซด์ของ Job Bank เป็นเวลา 14 วัน ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้จ้างชาวต่างชาติ ทั้งนี้ Job Bank เป็นองค์กรของรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงแรงงาน เพื่อทำหน้าที่จับคู่ความต้องการของนายจ้างที่มีตำแหน่งงานว่างกับผู้ที่ต้องการหางานผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งผู้ที่มีสิทธิใช้บริการของเว็บไซต์ ได้แก่ คนสิงคโปร์ ผู้ที่มีถิ่นพำนักถาวรในสิงคโปร์ (permanent residents) และบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดดังกล่าวจะให้การยกเว้นสำหรับกิจการที่มีจำนวนพนักงานไม่เกิน 25 คน และมีการให้เงินเดือนสูงกว่า 9,500 เหรียญสหรัฐ (12,000 เหรียญสิงคโปร์) นอกจากนี้ สาธารณชนที่รู้เห็นถึงการละเมิดข้อกำหนดของ FCF สามารถแจ้งให้กระทรวงแรงงานทราบได้ทันที

จากสถิติที่เผยแพร่ทางเว็บไซด์ของ Job Bank ในปัจจุบันมีจำนวนตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ 54,000 ตำแหน่งสำหรับทุกสาขาวิชาชีพ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของจำนวนแรงงานที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยสาขาที่มีความต้องการแรงงานสูง ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกร การบริหารจัดการและเลขานุการ ธนาคารและการเงิน และก่อสร้าง จำนวนตำแหน่งงานว่างที่สูงนี้ ช่วยยืนยันถึงภาวะความตึงเครียดในตลาดแรงงานของสิงคโปร์

จากการศึกษาวิเคราะห์ของบริษัทจัดหางานสัญชาติอังกฤษ หรือ Robert Walters พบว่า นายจ้างในสาขาบริการการเงินในสิงคโปร์ยังประสบกับการขาดแคลนพนักงานในบางสาขา โดยเฉพาะในด้านธรรมาภิบาล เช่น การตรวจสอบระบบและผู้ตรวจสอบภายใน โดยในรายงานระบุว่า บริษัทสิงคโปร์กำลังมองหาช่องทางเรียกร้องให้แรงงานชาวสิงคโปร์ในต่างประเทศกลับมาทำงานในประเทศมากขึ้น เพื่อให้บริษัทสิงคโปร์ปฏิบัติได้ตามข้อกำหนด FCF ทั้งนี้เงื่อนไขของ FCF ที่กำหนดให้ต้องจ้างแรงงานชาวสิงคโปร์ก่อน ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อแย่งชิงผู้ที่มีความสามารถชาวสิงคโปร์ (local talent) อีกทั้งยังผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากบริษัทหลายแห่งอาจตัดสินใจเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานให้สูงกว่า 9,500 เหรียญสหรัฐ เพื่อจะได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนด FCF

การริเริ่มมาตรการ FCF มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่พอใจของสาธาณชนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากการที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้อนุญาตให้มีการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมากในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้จำนวนคนต่างชาติเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว จาก 1 ล้านคน ในปี 2543 เป็น 2 ล้านคน ในปี 2557 และทำให้มีจำนวนประชากรรวมในประเทศถึงเกือบ 5.5 ล้านคน

นอกจากนี้ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรยังนำไปสู่การเพิ่มความจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อาทิ ที่อยู่อาศัย ระบบคมนาคมขนส่ง บริการสุขภาพ และการศึกษา ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในรายการโทรทัศน์เมื่อไม่นานมานี้ ได้กล่าวแสดงความเสียใจถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านที่อยู่อาศัยโดยการสร้างแฟลตของ Housing and Development Board (HDB) ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ให้มีอย่างเพียงพอ โดยได้ให้คำมั่นว่าในอนาคตจะต้องมีการวางแผนจัดการที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี บทสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์นี้ กลับไม่ได้รับความเห็นใจมากนักจากความเห็นของเว็บไซต์ข่าวต่างๆ ซึ่งเห็นว่า รัฐบาลสิงคโปร์ควรจัดการกับข้อกังวลของสาธารณชน ในช่วงก่อนหน้านี้ที่เริ่มมีความแออัดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชาชนในประเทศ อันส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เห็นว่า มาตรการ FCF คงจะยังคงถูกวิจารณ์ต่อไป ในขณะที่กระทรวงแรงงานสิงคโปร์กำลังพยายามแสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวใช้ได้ผลในการจัดการกับปัญหาความตึงเครียดของตลาดแรงงานในประเทศ เพื่อสร้างงานให้แก่คนสิงคโปร์และลงโทษบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม FCF โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2557 กระทรวงแรงงานได้ลงโทษบริษัท Prime Gold ซึ่งเป็นธุรกิจเดินเรือ โดยการห้ามไม่ให้จ้างชาวต่างชาติเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากพบว่ามีการประกาศจ้างงานแบบเลือกปฏิบัติ ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงแรงงานใช้มาตรการลงโทษกิจการที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง แม้ว่าในช่วงก่อนหน้านี้ มีบริษัทกว่า 100 แห่ง มีการประกาศจ้างงานแบบเลือกปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกัน

วิธีการปฏิบัติในการจ้างงานของ Prime Gold ยังเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของการปฏิบัติจริงในธุรกิจปัจจุบันด้วยเหตุของแรงจูงใจที่บริษัทส่วนใหญ่ต้องการจ้างแรงงานต่างชาติที่มีต้นทุนต่ำกว่า แม้ว่าจะต้องเสียค่าปรับของทางรัฐบาลแล้วก็ตาม ดังนั้น คนสิงคโปร์จึงต้องการเห็นการดำเนินมาตรการลงโทษอย่างจริงจังของกระทรวงแรงงานต่อการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด FCF ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในช่วงเวลาต่อจากนี้จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม 2560 เราคงจะได้เห็นบริษัทอีกหลายแห่งถูกลงโทษจากการไม่ปฏิบัติตาม FCF ขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์จำเป็นต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น เพื่อจัดการกับความตึงเครียดของตลาดแรงงานและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการทำธุรกิจในสิงคโปร์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีการย้ายฐานธุรกิจไปประเทศอื่นในภูมิภาค

โดยในการกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2558 ได้รับทราบถึงการชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมาจากปัจจัยด้านนโยบายแบบรัดกุมของรัฐบาล โดยรวมถึงการจ้างแรงงานชาวต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิจารณาจัดการกับผลที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน แม้ว่าสิงคโปร์จะต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติต่อไป เพื่อเติมเต็มตำแหน่งงานที่ว่างอยู่และทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป

สำนักอาเซียน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กุมภาพันธ์ 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


แท็ก สิงคโปร์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ