ชาและกาแฟเป็นสินค้าที่ไทยยังคงไว้ในรายการสินค้าที่มีโควตาภาษีภายใต้พันธกรณี WTO ซึ่งการนำเข้าชา เมล็ดกาแฟ2 และกาแฟสำเร็จรูป จากประเทศสมาชิก WTO จะต้องขออนุญาตนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าแต่ละชนิด ขณะที่ ภายใต้ความตกลง ATIGA ไทยได้เปิดตลาดเสรีสำหรับสินค้าชาและผลิตภัณฑ์กาแฟในอาเซียน แต่ยังคงสินค้าเมล็ดกาแฟดิบเป็นสินค้าอ่อนไหวโดยมีอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ ๕
ลักษณะภูมิประเทศในภาคเหนือของไทยมีความเหมาะสมต่อการปลูกชา โดยสามารถเพาะปลูกได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐ เมตรขึ้นไป และสามารถปลูกได้ทั้งในที่ราบและพื้นที่สูง ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกชาทั่วประเทศประมาณ ๑๓๒,๒๒๙ ไร่ พื้นที่ที่มีการปลูกชามากที่สุดของไทยอยู่ที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่โดยมีเนื้อที่ประมาณ ๔๕,๖๐๐ ไร่ และ ๔๑,๒๐๐ไร่ ตามลำดับ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการปลูกชา ๒ สายพันธุ์ได้แก่ ชาอัสสัม (ร้อยละ ๘๗) และชาจีน (ร้อยละ ๑๓) โดยชาจีนจะมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าชาอัสสัม เนื่องจากชาอัสสัมเป็นพืชที่ทนต่อโรคและแมลงจึงสามารถเติบโตตามธรรมชาติได้ดี และยังมีการทดลองปลูกชาน้ำมันในประเทศไทยโดยมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ในปี ๒๕๕๕ ทั่วโลกมีการผลิตชา 4.818 ล้านตัน ในขณะที่ไทยสามารถผลิตชาได้ 79,094 ตัน คิดเป็นร้อยละ ๑.๖๔ ของการผลิตทั่วโลก และคาดการณ์ว่าผลผลิตชาใบและผลิตภัณฑ์ชาร้อยละ ๘๕ ใช้บริโภคภายในประเทศและร้อยละ ๑๕ ส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า ๒๐๐ ล้านบาทต่อปี โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษส่งผลให้ไทยเป็นผู้ผลิตชาลำดับ ๑๐ ของโลก และเป็นลำดับ ๓ ของอาเซียนรองจากเวียดนาม (ลำดับ ๖ ของโลก) และอินโดนีเซีย (ลำดับ ๘ ของโลก) ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการบริโภคชาเฉลี่ย ๑๐ กรัมต่อคนต่อปี
ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าชาไปยังตลาดต่างๆ ในปี ๒๕๕๘ มีมูลค่า ๘.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการส่งออกชาไปยังตลาดอาเซียนมากถึง ๒.๙๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๓๔.๘๘ ของการส่งออกของไทยทั้งหมด และประเทศอื่นที่มีความตกลงทางการค้า หรือ FTA มูลค่ารวม ๓๘๗,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๔.๖ ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ ตลาดที่มีการลดภาษีลงเหลือร้อยละ ๐ ได้แก่ จีน ภายใต้กรอบ ASEAN-จีน ซึ่งปัจจุบันไทยมีการส่งออกสินค้าชาไปยังประเทศจีนเป็นมูลค่า ๐.๑๔๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ ๐.๒๐ ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าชาดำ พิกัด ๐๙๐๒๔๐ ๐๙๐๒๓๐ และไทยส่งออกสินค้าชาทั้งชาดำและชาเขียวพิกัด ๐๙๐๒๒๐ และ ๐๙๐๒๓๐ ไปยังจีน
นอกจากนี้ ตลาดที่มีอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ ๐ ได้แก่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซี่งไทยยังคงมีการส่งออกในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งตลาดออสเตรเลียมีการนำเข้าชาเขียวพิกัด ๐๙๐๒๒๐ ๐๙๐๒๑๐ จากไทย และนำเข้าชาดำพิกัด ๐๙๐๒๓๐ มากที่สุด และนิวซีแลนด์มีการนำเข้าชาดำพิกัด ๐๙๐๒๓๐ ๐๙๐๒๔๐ จากไทย ซึ่งตรงกับความต้องการโดยนิวซีแลนด์นำเข้าสินค้าชาพิกัด ๐๙๐๒๓๐ จากทั่วโลกมากที่สุดในแต่ละปี
ในทางกลับกัน ตลาดที่ยังไม่เปิดตลาดสินค้าชาทั้งหมดโดยยังคงอัตราภาษีชาเขียวไว้ แต่เปิดตลาดสินค้าชาดำได้แก่ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งสองตลาดนี้พบว่ามีการนำเข้าสินค้าชาดำพิกัด ๐๙๐๒๔๐ ๐๙๐๒๓๐ เป็นมูลค่าสูงกว่าสินค้าชาเขียว ส่วนไทยมีการส่งสินค้าชาเขียวและชาดำในทุกพิกัดไปยังตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ในด้านการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญของไทยนั้น ไทยยังมีส่วนแบ่งทางตลาดน้อยมากในแต่ละตลาด ทั้งนี้ ข้อมูลการค้าที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกสินค้าชาไป สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ เป็นลำดับต้น นอกจากนี้ สินค้าชาที่ไทยส่งออกไปยังเนเธอแลนด์ มี ๓ รายการหลัก อาทิ สินค้าชาเขียว ๐๙๐๒๑๐ ๐๙๐๒๒๐ และสินค้าชาดำที่มีน้ำหนักเกินกว่า ๓ กิโลกรัม ๐๙๐๒๔๐ ทั้งนี้ ไทยอาจได้รับผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าชาเขียวของไทยเพียงเล็กน้อยหลังจากที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP เนื่องจากอัตราภาษี MFN ของเนเธอร์แลนด์มีการเรียกเก็บเพียง ๓.๒% และเรียกเก็บ MFN ชาดำ ๐% เท่านั้น
สำหรับตลาดไต้หวัน มีการนำเข้าชาเขียวและชาดำที่มีน้ำหนักเกินกว่า ๓ กิโลกรัม พิกัด ๐๙๐๒๒๐ และ ๐๙๐๒๔๐ จากไทยเป็นปริมาณมาก แต่มีการนำเข้าชาดำที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ๓ กิโลกรัม ในปริมาณน้อยมาก และยังมีอัตราภาษีนำเข้าสินค้าชาเขียวและชาดำอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจเป็นการปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศของไต้หวัน
๑. สินค้าชาที่คู่ค้าของไทยมีการนำเข้ามากและมีการเปิดตลาดสินค้า โดยลดภาษีเป็น ๐% ทั้งในตลาด จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ สินค้าชาดำ พิกัด ๐๙๐๒๔๐ และ ๐๙๐๒๓๐ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกและมีการส่งออกไปยังตลาดใหญ่บางตลาดเท่านั้น ทั้งนี้ การนำเข้าชาเขียวและชาดำของคู่ค้าแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและวัฒนธรรมในการบริโภค
๒. ตลาดคู่ค้าของไทยส่วนใหญ่ยังไม่เปิดตลาดสินค้าชาเขียวประเภทพิกัด ๐๙๐๒๑๐ และ ๐๙๐๒๒๐ มากนักโดยเฉพาะประเทศที่มีการบริโภคชาเขียวเป็นปริมาณมาก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน และในทางกลับกันไทยมีการนำเข้าสินค้าชาเขียวเป็นปริมาณมากเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น การพัฒนาด้านการตลาดสินค้าชาเขียวของไทยควรเป็นการพัฒนาตลาดภายในประเทศ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้มีผลผลิตภายในประเทศเพียงพอต่อการบริโภค
๓. สินค้าชาที่เป็นที่ต้องการของคู่ค้าไทยส่วนใหญ่ได้แก่ สินค้าชาดำ ดังนั้น ไทยอาจพิจารณาสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการเกษตรและการผลิตชาดำเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นสินค้าชาที่เป็นที่ต้องการของทุกตลาด และมีการเปิดตลาดในทุกตลาดอีกด้วย
๔. การพัฒนาคุณภาพเฉพาะตัวของชาไทย ทั้งในชาเขียวและชาดำ อาทิ การจด GI ชาเชียงราย เพื่อให้สินค้ามีคุณลักษณะเฉพาะตัว จะช่วยให้ไทยสามารถสร้างชื่อเสียงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตนเองได้และจะนำไปสู่การทำตลาดในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยให้ผู้ผลิตภายในประเทศปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าจากการรับจ้างผลิตเป็นการส่งออกภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเองได้ง่ายขึ้น
สำนักการค้าสินค้า
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630