เดนมาร์กมีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่นำพาประเทศไปสู่เป้าหมายของเมืองแห่งการทำธุรกิจ คือ กฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของต่างชาติ ซึ่ง World Bank มองว่า ในการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี ภาครัฐไม่เพียงแค่ขจัดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเท่านั้น แต่ต้องสร้างกฎระเบียบที่อำนวยความสะดวกให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจกับตลาด ประกอบกับมาตรการที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถพัฒนาตนเองให้เติบโตได้อย่างอิสระ มากไปกว่านั้น การเริ่มต้นการทำธุรกิจในเดนมาร์กสามารถกระทำได้ง่ายและรวดเร็วด้วยการจดทะเบียนแบบ plug ’n play หรือระบบดิจิตอล ซึ่งพร้อมให้ทำธุรกิจได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ในขณะที่นิตยสาร Forbes ชี้ว่าความยืดหยุ่นของตลาดแรงงานในเดนมาร์กเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้นักธุรกิจต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนมาก เพราะมีตลาดแรงงานเสรีที่บริษัทสามารถจ้างและไล่ออกพนักงานได้ง่าย และแรงงานสามารถหางานใหม่ได้ง่ายด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การลดเพดานทุนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเป็นอีกหนึ่งนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมธุรกิจ ตลอดจนความโปร่งใสและการให้บริการที่ดีของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เดนมาร์กเป็นฐานการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่างชาติ และทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
เดนมาร์กยังมีจุดแข็งที่สนับสนุนให้เป็นดินแดนแห่งการทำธุรกิจคือ (1) ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของโลก เดนมาร์กตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีสะอาดของโลก (CleanTech) รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่ผลักดันให้เป็นประเทศปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel Free Society) แห่งแรกของโลกภายในปี 2593 โดยใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พลังงานชีวภาพ และพลังงานลมเป็นพลังงานหลักของทั้งภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคในครัวเรือน
ปัจจุบัน เดนมาร์กสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้แล้ว ร้อยละ 99 ตลอดจนการประยุกต์เทคโนโลยีกับการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสุขภาพ (e-Health) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่ใช้ระบบดิจิทอลและหุ่นยนต์อัจฉริยะ (robotics) (2) จุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงประเทศตอนกลางทวีปยุโรปกับประเทศแถบคาบสมุทรนอร์ดิก-บอลติก ประกอบไปด้วย 8 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ท่าอากาศยานเมืองโคเปนเฮเกนมีเที่ยวบินให้บริการเดินทางไปยัง 132 เมืองทั่วโลก และสามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้กว่า 380,000 ตันต่อปี (3) ต้นทุนการประกอบธุรกิจต่ำ นอกจากความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจแล้ว รัฐบาลยังมีนโยบายเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 24.6 และจะลดลงเหลือร้อยละ 22 ในปี 2559 รวมทั้งยังมีอัตราค่าเช่าสถานที่ทำธุรกิจโดยเฉลี่ยต่ำที่สุดในยุโรป และ (4) การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ เดนมาร์กให้สิทธิผู้พักอาศัย (resident permit) และผู้ถือใบอนุญาตทำงาน (work permit) เข้าถึงสวัสดิการเทียบเท่ากับประชากรของเดนมาร์ก เช่น ไม่เสียค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เป็นต้น
World Bank ได้จัดให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่น่าทำธุรกิจมากที่สุดในโลก ปี 2558 รองลงมาได้แก่ นิวซีแลนด์ ฮ่องกง เดนมาร์ก และเกาหลีใต้ ตามลำดับ สำหรับอันดับของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ (1) สิงคโปร์ (18) มาเลเซีย (26) ไทย (78) เวียดนาม (95) ฟิลิปปินส์ (101) บรูไน (114) อินโดนีเซีย (135) กัมพูชา (148) ลาว และ(177) เมียนมาร์ ส่วนนิตยสาร Forbes ได้จัดให้เดนมาร์กเป็นอันดับ 1 สำหรับประเทศที่น่าทำธุรกิจมากที่สุดในโลก ปี 2557 อันดับรองลงมาคือ ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ไอร์แลนด์ และสวีเดน ตามลำดับ สำหรับอันดับของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ (8) สิงคโปร์ (37) มาเลเซีย (62) ไทย (77) อินโดนีเซีย (82) ฟิลิปปินส์ (111) เวียดนาม (121) กัมพูชา (130) ลาว และ (143) เมียนมาร์ ทั้งนี้ World Bank และ Forbes พิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมในด้านต่างๆ ที่เหมาะสมทั้งเสถียรภาพทางการเมือง ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ต่อการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
สำนักยุโรป
กุมภาพันธ์ 2558
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630