ครม. อนุมัติท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 3 และร่างกรอบเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน/ไทย-ตุรกี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 3, 2015 15:59 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบท่าทีไทยสำ หรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 3 และมีมติให้ความเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถานและไทย-ตุรกี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีทั้งสองฉบับ พร้อมทั้งเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศเปิดการเจรจา FTA ดังกล่าว

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายคูราม เดสกีร์ ข่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ปากีสถาน มีกำหนดเป็นประธานร่วมในการประชุม JTC ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 3 ในระหว่างวันที่ 12-13 สิงหาคม 2558 ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน ซึ่งในการประชุมนี้ รัฐมนตรีการค้าของทั้งสองประเทศจะประกาศเริ่มการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน และจะหารือแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนรวมทั้งการทำให้การค้าสองฝ่ายมีความสะดวกคล่องตัวมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกันซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตั้งไว้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,000ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2561 และจะพิจารณาความร่วมมือในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีศักยภาพที่จะสามารถดำเนินการเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ อาหาร เกษตรและประมง ยานยนต์และชิ้นส่วน และสิ่งทอ เป็นต้น โดยปากีสถานเป็นแหล่งทรัพยากรด้านอัญมณีและประมงที่สำคัญสำหรับไทย ในขณะที่ยานยนต์และชิ้นส่วนซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของไทยไปยังปากีสถานมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม JTC ครั้งที่ 3 กระทรวงพาณิชย์จะจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยกับปากีสถานในสาขา อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกล คู่ขนานไปกับการประชุมโดยมีนักธุรกิจไทยกว่า 30 รายรวมทั้งประธานสภาหอการค้าไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-ปากีสถานร่วมเดินทางไปกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ปากีสถานเป็นคู่ค้าสำ คัญลำ ดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา การค้าไทย-ปากีสถานมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 916 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 เป็น 1,016 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2557 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าปากีสถานมาโดยตลอด เฉลี่ยปีละประมาณ 777 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557 การส่งออกจากไทยไปปากีสถานมีมูลค่า 876 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้ามีมูลค่า 140 ล้านเหรียญสหรัฐ

ข้อดีของการทำ FTA ไทย-ปากีสถาน

การเจรจา FTA ไทย-ปากีสถานจะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรประมาณ 200 ล้านคน (อันดับ 6 ของโลก) ซึ่งในจำนวนนี้มีประชากรที่มีกำลังซื้อสูงถึงประมาณ 30 ล้านคน นอกจากนี้ ปากีสถานยังมีที่ตั้งที่ได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์การค้า สามารถเป็นประตูการค้าเพื่อกระจายสินค้าของไทย เช่น ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ภาคตะวันตกของจีน เอเชียกลางและภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงโลกมุสลิมซึ่งมีกว่า 50 ประเทศในกลุ่มประเทศในองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งมีประชากรประมาณ 2 พันกว่าล้านคน เป็นตลาดใหญ่ คิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดโลก จึงเป็นโอกาสของสินค้าฮาลาลของไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบต่อการผลิตของไทย เช่น อัญมณี และสัตว์น้ำ เป็นต้น

จากผลการศึกษาพบว่า การค้าเสรีระหว่างไทยและปากีสถานจะช่วยให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08-0.32

ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 1 ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2558 โดยกระทรวงพาณิชย์วางแผนให้การเจรจาจัดทำความตกลง FTA ไทย-ปากีสถานแล้วเสร็จภายในกลางปี 2560

ข้อดีของการทำ FTA ไทย-ตุรกี

ตุรกีเป็นหนึ่งในตลาดใหม่ที่น่าสนใจ การจัดทำ FTA จะเอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับไทยในการเข้าสู่ตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากตุรกีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรประมาณ 80 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวปีละกว่า 30 ล้านคน นอกจากนั้น ตุรกีมีที่ตั้งที่ได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ สามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียกับยุโรป และเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้า ทั้งด้านเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก ไทยจึงสามารถใช้ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมต่อทางการค้าไปสู่ประเทศต่างๆ ได้

จากการศึกษาพบว่า การจัดทำ FTA จะส่งผลให้ GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 65.9 – 76.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าที่คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ยานพาหนะ ตู้เย็น ผ้าทอ เมล็ดพืช อาหารฮาลาล เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกพลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ นอกจากนี้ ปัจจุบัน ตุรกีตัดสิทธิ GSP กับไทย ทำให้ไทยต้องเสียภาษีในอัตราปกติ การจัดทำ FTA จะช่วยให้ไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากตุรกีเป็นการถาวร สินค้าที่ไทยใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ ยานยนต์ขนส่งไม่เกิน 5 ตัน เครื่องปรับอากาศ ด้ายใยสังเคราะห์โพลิเอสเทอร์ เส้นใยสั้นเทียมวิสโคสเรยอน ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และโพลิเมอร์ของเอทิลีน เป็นต้น

ตุรกีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 1 ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2558 โดยกระทรวงพาณิชย์วางแผนให้การเจรจาจัดทำความตกลง FTA ไทย-ตุรกี แล้วเสร็จภายในปลายปี 2559

กระทรวงพาณิชย์

29 กรกฎาคม 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ