นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 10 ประเทศและผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ( Ambassador Michael B. Froman) ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ภายใต้แผนงานความร่วมมือการค้าและการลงทุนในการประชุม AEM-USTR Consultations เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ในการประชุมดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้รับทราบการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือตามแผนงาน ประจำปี 2558 เช่นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs อาเซียน การสนับสนุนการพัฒนาระบบ ASEAN Single Window เป็นต้น และยืนยันความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างการเป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันต่อไป พร้อมนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและสหรัฐฯ ได้รับทราบความคืบหน้าการหารือข้อริเริ่มการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เสนอโดยสหรัฐฯ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การจัดทำหลักการร่วมด้านการลงทุน (Investment Principles) (2) การจัดทำหลักการร่วมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Principles) และ (3) การจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีด้านความโปร่งใสและข้อพึงปฏิบัติที่ดีในการออกกฎระเบียบ (Best Practices on Transparency and Good Regulatory Practice) และพร้อมที่จะเดินหน้าการหารือหลักการทั้งสามดังกล่าวให้มีความคืบหน้ามากขึ้น เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ
นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการหารือร่างหลักการร่วมทั้งสามข้างต้น อาเซียนและสหรัฐฯ ได้ตกลงที่จะร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ IUU Fishing ภายใต้เวทีหารือด้านการค้าและสิ่งแวดล้อม (ASEAN-U.S. Trade and Environment Dialogue) รวมทั้งเห็นชอบที่จะมีการจัดกิจกรรม ASEAN Economic Ministers (AEM) Roadshow to U.S. ครั้งที่ 3 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ภาคธุรกิจ นักวิชาการ และสื่อมวลชนสหรัฐฯ ตระหนักถึงความสำคัญและศักยภาพของภูมิภาคอาเซียน โดยอาเซียนเชื่อมั่นว่าการจัด AEM Roadshow ในช่วงเวลาภายหลังจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างสมบูรณ์แล้ว จะเป็นโอกาสแก่อาเซียนในการนำเสนอวิสัยทัศน์และทิศทางการดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งตอกย้ำถึงศักยภาพของอาเซียนในเรื่อง “การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว” ซึ่งจะช่วยโน้มน้าวและดึงดูดนักลงทุนสหรัฐฯ ให้ขยายฐานการลงทุนในอาเซียนเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว
นอกจากนี้ ภาคเอกชนสหรัฐฯ ประกอบด้วย U.S.-ASEAN Business Council (USABC) U.S. Chamber of Commerce (USCC) และ U.S.-ASEAN Business Alliance ได้นำเสนอผลงานต่อที่ประชุมฯ ดังนี้ (1) การมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของ SMEs อาเซียน ในช่วงปีที่ผ่านมา (2) White Paper เสนอแนะประเด็นที่อาเซียนควรให้ความสำคัญและเร่งเดินหน้าพัฒนาภายหลังการเข้าสู่ AEC เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนของอาเซียนให้สามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก และ (3) รายงานผลการจัดทำ ASEAN Business Outlook Survey ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นการสำรวจมุมมองของภาคเอกชนสหรัฐฯ ต่อการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ และแนวโน้มการลงทุนในอนาคต ซึ่งในภาพรวมบ่งชี้ว่านักลงทุนชาวสหรัฐฯ ยังคงมีทัศนคติในด้านดีต่ออาเซียน และมีแผนที่จะขยายการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ
ในปี 2557 สหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของอาเซียน รองจากจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น การค้ารวมระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 212.42 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.4 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของอาเซียน โดยอาเซียนส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 122.38 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 90.04 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630