อาเซียนและเกาหลีใต้เตรียมความพร้อมเปิดมิติใหม่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 2, 2015 16:13 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน - เกาหลีใต้ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2558 ที่ประชุมยินดีกับการสรุปพิธีสารฉบับที่ 3 เพื่อแก้ไขความตกลงด้านการค้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-Korea Free Trade Area: AKFTA) และหวังว่าจะสามารถใช้บังคับได้ในวันที่ 1 มกราคม ปีหน้า

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พิธีสารฉบับที่ 3 มีการแก้ไขความตกลงด้านการค้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ให้มีความโปร่งใสและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อเร่งเพิ่มการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - เกาหลีใต้ โดยได้มีการปรับปรุงประเด็นที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้แก่ (1) การให้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามีการลงนามและประทับตราด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (2) ความโปร่งใส โดยการเผยแพร่ข้อมูลกฎระเบียบในระยะเวลาที่เหมาะสม (3) ให้มีการวินิจฉัยพิกัดศุลกากร กฎถิ่นกำเนิดสินค้า หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าล่วงหน้าการนำเข้า (4) มีทางเลือกสำหรับการคำนวณการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าในภูมิภาค รวมถึงจัดทำตารางการลดภาษีรายสินค้าของแต่ละประเทศแนบท้ายพิธีสารฯ ซึ่งจะทำให้ผู้นำเข้าทราบอัตราภาษีที่แน่นอน

นางอภิรดี กล่าวว่า พิธีสารฯ จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างอาเซียนและเกาหลี โดยเฉพาะการนำเอาวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้มากขึ้น เช่น การลงนามและประทับตราหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มจากเดิมที่ให้มีการลงนามด้วยมือเท่านั้น และการกำหนดให้เผยแพร่กฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอนการบริหารทางศุลกากรในอินเตอร์เน็ต นอกเหนือจากที่เคยกำหนดให้เป็นรูปแบบสิ่งพิมพ์ โดยอาเซียนและเกาหลีคาดว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะช่วยให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงนี้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุเป้าทางการค้าที่ได้ตั้งไว้ที่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563

นอกจากนั้น รัฐมนตรีอาเซียน-เกาหลียังได้ให้การรับรองรูปแบบการเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติม โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มขึ้นในระดับร้อยละ 1- 2 ของจำนวนรายการสินค้าที่เปิดตลาดในปัจจุบันซึ่งไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดอ่อนไหวเพิ่มเติมในสินค้าประเภทน้ำตาล สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลแปรรูป กระเบื้องและสุขภัณฑ์ เป็นต้น

ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – เกาหลีใต้ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปี 2557 การค้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 137 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 182 จากปี 2547 ที่มีมูลค่า 46.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้ในปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 1.93 ที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 135 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของเกาหลีใต้รองจากจีนและสหรัฐฯ ในขณะที่เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของอาเซียน สำหรับการลงทุนทางตรงจากเกาหลีใต้มายังอาเซียนมีการขยายตัวในช่วงปีที่ผ่านมา คือ เพิ่มจาก 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2556 เป็น 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 3.3 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด ส่งผลให้เกาหลีใต้กลายเป็นนักลงทุนทางตรงรายใหญ่อันดับ 6 ของอาเซียน

การค้ารวมระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ในปี 2558 (มกราคม – มิถุนายน) มีมูลค่า 5,747.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.52 จากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มีมูลค่า 6,569.91 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา (2554-2557) การค้ารวมระหว่างไทยและเกาหลีใต้มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 13,574.97 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2557 มีมูลค่าการค้ารวม 13,067.55 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2556 ร้อยละ 4.31 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 2.87 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย ปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 11 ของไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ