นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการหารือร่วมกับภาคเอกชนญี่ปุ่นในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME โดยญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญกับไทยในการเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยปัจจุบันมีนักลงทุนญี่ปุ่นที่เป็น SME ให้ความสนใจมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จุดแข็งของไทย คือ จุดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และความพร้อมด้านสาธารณูปโภคต่างๆ คาดว่าหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้ การค้าและการลงทุนจะขยายตัวอีกมาก
ประธานสภาหอการค้าญี่ปุ่น แจ้งว่า สมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในอาเซียนได้จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการของ AEC 2025 หรือแผน 10 ปีข้างหน้า หลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ 1) การพัฒนาบุคลากรแรงงานทักษะ โดยเฉพาะสายอาชีวะและช่างเทคนิค 2) การอำนวยความสะดวกทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทางศุลกากร โดยเฉพาะจุดตรวจตามชายแดน 3) การทำมาตรฐานสินค้าร่วม เพื่อให้สินค้าสามารถเคลื่อนย้ายในอาเซียนได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากยังคงพบว่า แต่ละประเทศอาเซียนยังคงมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการเป็นฐานการผลิตเดียวของอาเซียน
เกี่ยวกับข้อเสนอของสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เห็นว่า สอดคล้องกับนโยบายที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ อาทิ นโยบายการพัฒนาแรงงานฝีมือของญี่ปุ่นสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาอาชีวะให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม สำหรับการอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนา National Single Window มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามกำหนดภายในปี 2558 รวมทั้ง ผลักดันให้มีการตั้ง Common Checkpoint ณ จุดตรวจชายแดนที่เชื่อมต่อไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์หน้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีกำหนดเดินทางไปเยือนด่านสะเดา เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา อุปสรรค ณ บริเวณด่านการค้า ซึ่งจะช่วยให้การค้าขยายตัวได้อีกมาก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า สำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) จะนำเสนอ SME Package เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการมาตรการจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนั้น จะเร่งเพิ่มขีดความสามารถใจการแข่งขัน โดยเฉพาะในภาคบริการซึ่งไทยมีศักยภาพ อาทิ บริการทางการแพทย์ การท่องเที่ยวธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 ของไทย รองจากจีน โดยในปี 2557 มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและญี่ปุ่น มีมูลค่าประมาณ 57,531.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2556 ที่มีมูลค่า 63,317.94 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.14 ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2553-2557) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 63,632.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ มูลค่าการค้าในปี 2558 (มกราคม – กรกฎาคม) มีมูลค่าการค้ารวม 30,552.45 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 8.95 สำหรับการลงทุน ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในไทย มูลค่าการลงทุนทางตรงของญี่ปุ่นจาก BOI พบว่า ญี่ปุ่นลงทุนทางตรงในไทย (ระหว่างปี 2550 - มิ.ย.2558) มูลค่าประมาณ 44.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
16 กันยายน 2558
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630