มาตรการที่มิใช่ภาษี กรณีแอปเปิ้ลนิวซีแลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 20, 2015 15:26 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ปัจจุบันประเทศต่างๆ ให้ความสนใจจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างกันมากขึ้น ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี ทำให้ปัจจุบันประเทศต่างๆ ดำเนินการลดภาษีหรือยกเลิกภาษีสินค้าระหว่างกันแล้ว อาทิ การจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ลดภาษีสินค้าเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2553 อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ สามารถบังคับใช้มาตรากรที่มิใช่ภาษีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศตนได้ อาทิ มาตรการสุขอนามัยสุขอนามัยพืช (SPS) ซึ่งเป็นมาตรการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตร อาหาร พืชผัก/ผลไม้ ปศุสัตว์ ว่า ปลอดจากโรคพืช/โรคสัตว์ สารปนเปื้อนที่จะทำอันตรายแก่ผู้บริโภค และมาตรการเทคนิคที่เป็นอุปสรรคทางการค้า (TBT) ซึ่งเป็นมาตรการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมว่า สินค้าดังกล่าวมีคุณภาพ มาตรฐาน ตามที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ ทั้งสองมาตรการต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสินค้าที่องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกำหนด

องค์การการค้าโลก ได้จัดทำรายงานประจำปี 2013 กล่าวว่า ประเทศต่างๆ มีการบังคับใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านความครอบคลุมจำนวนสินค้า และจำนวนประเทศสมาชิกที่ใช้มาตรการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนองนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการการปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศจากความเสียหายหรือโรคภัยไข้เจ็บ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่มิใช่ภาษียังถูกนำมาใช้ในการปกป้องผู้ผลิต/อุตสาหกรรมในประเทศจากการแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับว่า มาตรการที่มิใช่ภาษีอาจถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดเพื่อเหตุผลในการปกป้องผู้ประกอบการ/ผู้ผลิตมากกว่าเหตุผลอื่นๆ หรือที่เรียกว่า มาตรการกีดกันทางการค้า (NonTrade Barriers)

มีกรณีพิพาทที่น่าสนใจกรณีหนึ่งได้แก่ การบังคับใช้มาตรการนำเข้าสินค้าแอปเปิ้ลของออสเตรเลียต่อประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวคือ ออสเตรเลียระงับการนำเข้าสินค้าแอปเปิ้ลจากนิวซีแลนด์ตั้งแต่ปี 1921 หลังจากพบโรค Fireblight ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อผลไม้ในตระกูล Rose Family เช่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมานิวซีแลนด์พยายามอย่างมากที่จะให้ออสเตรเลียอนุญาตให้นำเข้าสินค้าแอปเปิ้ลจากประเทศตน เนื่องจากมีผลการศึกษาที่สรุปว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดยืนยันว่า โรคดังกล่าวสามารถติดไปกับแอปเปิ้ลที่ส่งออกไปขายได้

นิวซีแลนด์ได้พยายามเจรจากับหน่วยงาน Biosecurity Australia จนกระทั่งในเดือนมีนาคม 2007 นิวซีแลนด์ได้นำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทภายใต้องค์การการค้าโลกว่า ออสเตรเลียบังคับใช้มาตรการ SPS ที่เข้มงวดเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับหลักการวิทยาศาสตร์ อาทิ วิธีการประเมินความเสี่ยง (fundamental flaws in the Final Import Risk Analysis methodology) ที่กำหนดโดยออสเตรเลียทั้ง 16 มาตรการ และพบว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยงเกี่ยวกับการนำเข้า การเกิดและการแพร่กระจายของแมลงศัตรูพืชทั้ง 3 โรค มิได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน และในวันที่ 17 สิงหาคม 2011 ศาลอุทธรณ์ขององค์การการค้าโลกตัดสินให้นิวซีแลนด์ชนะคดี และออสเตรเลียจะต้องปรับเปลี่ยนมาตรการนำเข้าสินค้าแอปเปิ้ลให้สอดคล้องกับความตกลงมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

จากสถิติการนำเข้าแอปเปิ้ลของออสเตรเลียมีมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ มีรายละเอียดดังนี้

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

          ประเทศ                   2012           2013           2014
          โลก                      0.63           0.83           2.00
          นิวซีแลนด์                  0.15           0.11           0.92
          จีน                       0.47           0.72           0.67

ที่มา: World Trade Atlas

กล่าวโดยสรุป การใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี อาทิ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ประเทศต่างๆ สามารถบังคับใช้มาตรการได้ อย่างไรก็ตาม ต้องสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดขององค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย สำหรับกรณีของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ถือเป็นกรณีพิพาทที่มีความสำคัญเนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันมากทั้งทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน อย่างไรก็ตาม หากประเทศใดประเทศหนึ่งบังคับใช้มาตการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ประเทศอื่นๆ ก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องได้ เพื่อให้เกิดการค้าขายระหว่างประเทศที่เป็นธรรม

สำนักการค้าสินค้า

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มีนาคม 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ