ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ให้ความสำคัญในการขยายตลาดในช่วงปีที่จะถึงนี้ ที่ได้รับคะแนนมากเรียงตามลำดับ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมา แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะบริษัทที่มีการลงทุนอยู่แล้วในทั้ง 3 ประเทศ พบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนของจำนวนบริษัทที่วางแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มเติม มากตามลำดับ ได้แก่ เมียนมา (ร้อยละ 91) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 81) และเวียดนาม (ร้อยละ 75) โดยมีปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในเมียนมาและอินโดนีเซีย คือ ความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศของเมียนมา และผลสำเร็จจากการเลือกตั้งทั่วไปในอินโดนีเซียซึ่งทำให้ได้รัฐบาลชุดใหม่ที่ให้การส่งเสริมภาคเอกชน ถึงแม้ว่า ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ ยังมีความกังวลต่ออุปสรรคในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ปัญหาการคอรัปชั่น ความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน ความยุ่งยากด้านกฎระเบียบ และปัญหาด้านพิธีการศุลกากรในการขนส่งสินค้าผ่านแดน
ในภาพรวม ความเข้มแข็งของตลาดภายในประเทศและการดำเนินการตามความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนทำกับประเทศคู่ค้าต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของบริษัทเอกชนสหรัฐฯ โดยในกลุ่มผู้ประกอบการด้านการผลิต มีสัดส่วนร้อยละ 49 ที่ได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกัน ยังมีความเห็นส่วนใหญ่ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมในการเจรจา Trans-Pacific Partnership (TPP) ในปัจจุบัน ได้แก่ บรูไนฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม จะได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจชี้ว่า นักลงทุนสหรัฐฯ ยังไม่มีความเชื่อมั่นมากนักต่อการบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ภายในปลายปี 2558 และมีความเห็นว่า อาเซียนน่าจะรวมกลุ่มเป็นตลาดเดียวกันได้อย่างเร็วที่สุด ภายในปี 2563
ที่มา: The Economist Intelligence Unit, January 2015
สำนักอาเซียน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กุมภาพันธ์ 2558
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630