มาเลเซียกับอุปสรรคด้านแรงงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2015 14:33 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

รัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ ได้ประกาศแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 11 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมนำ ซึ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแรงงานฝีมือที่มีความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนประเทศให้สามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2563 อย่างไรก็ดี ถึงแม้รัฐบาลมาเลเซียได้จัดสรรงบประมาณมากกว่า 1 ใน 5 ให้กับภาคการศึกษา ทั้งยังได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ แต่รัฐบาลมาเลเซียยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะในประเด็นด้านแรงงานซึ่งถูกจัดว่ามีมาตรฐานต่ำกว่าระดับสากลและภูมิภาค ดังนั้น การที่มาเลเซียจะสามารถบรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ของประเทศ จึงจำเป็นต้องเน้นเรื่องการสร้างและพัฒนาทักษะการคิดในขั้นสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างกว้างขวาง และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับครู

ปัจจุบัน ธนาคารโลกได้จัดกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ได้แก่ ประเทศที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเฉลี่ย 12,746 เหรียญสหรัฐ ต่อคน โดยจะมีการทบทวนตัวเลขดังกล่าวเป็นระยะๆ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 15,000 เหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 ซึ่งตามรายงานของธนาคารโลก ในปี 2556 มาเลเซียกำลังเข้าใกล้การเป็นประเทศรายได้สูง คือ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 10,430 เหรียญสหรัฐ ต่อคน ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 11 รัฐบาลมาเลเซียตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยได้กำหนดให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็น 1 ใน 7 สาขาหลักของแผนงาน อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้มีการปรับปรุงระบบการศึกษา ซึ่งนอกเหนือจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การเรียกร้องจากภาคประชาชนซึ่งมีอายุโดยเฉลี่ย 30 ปี และต้องการให้มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีแก่ลูกหลานของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของประชากรในกลุ่มวัยเรียนของมาเลเซีย คือ กลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และกลุ่มที่มีอายุ 20-29 ปี ซึ่งอยู่ในระดับอุดมศึกษา มีสัดส่วนร้อยละ 36 และ 20 ตามลำดับ จึงเป็นเหตุผลอันสมควรในการปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ด้วยความสำคัญของการศึกษาดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลมาเลเซียได้จัดสรรงบประมาณร้อยละ 21 เพื่อใช้ในภาคการศึกษา (คิดเป็นร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะเป็นเงินงบประมาณจำนวนมากโดยคิดเป็นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเงินงบประมาณด้านการศึกษาโดยเฉลี่ยต่อคนของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในภาคการศึกษาของมาเลเซียกลับน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยตามการจัดอันดับของ OECD ในโครงการประเมินประสิทธิภาพของนักศึกษาระหว่างประเทศ มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 52 จาก 65 ประเทศ นำหน้าเพียงประเทศอินโดนีเซีย แต่ล้าหลังกว่าแม้แต่ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อคนต่ำกว่ามาเลเซีย มากกว่า 5 เท่า ตามสถิติของธนาคารโลก นอกจากนี้ สัดส่วนของนักศึกษามาเลเซียที่จบการศึกษาโดยมีความรู้ความชำนาญด้านภาษาอังกฤษขั้นต่ำยังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 28 ถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคต่อการจ้างงาน

เพื่อยกระดับการศึกษาให้ทัดเทียมกับระดับสากลและเพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานในการมุ่งสู่วิสัยทัศน์การมีนวัตกรรมนำ กระทรวงศึกษามาเลเซียได้ประกาศแผนงานด้านการศึกษาแห่งชาติ เมื่อปี 2556 โดยได้รับความร่วมมือในการจัดทำจาก UNESCO ธนาคารโลก และ OECD ซึ่งได้กำหนดแผนงานสำคัญในการปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีความทันสมัย โดยตระหนักว่า การมุ่งเน้นในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การอ่าน และการเขียน จะไม่เพียงพออีกต่อไป หากมาเลเซียต้องการที่จะประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ แต่ต้องเน้นทักษะการคิดในขั้นที่สูงขึ้น เช่น การทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้ สัดส่วนร้อยละ 40-50 ของข้อสอบระดับประเทศในปัจจุบันจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาสำคัญแทนคำถามรูปแบบเดิมที่เน้นการท่องจำ โดยรัฐบาลมาเลเซียคาดหวังว่า ทักษะการคิดในขั้นสูงขึ้น ควบคู่กับข้อกำหนดใหม่ซึ่งให้ผู้จบการศึกษาระดับมัธยมทุกคนต้องมีความรู้ความชำนาญด้านภาษาอังกฤษ จะผลักดันให้การศึกษาของประเทศอยู่ในอันดับที่สูงขึ้น และช่วยให้ประเทศเปลี่ยนไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ในที่สุด

เพื่อดำเนินการตามแผนงานในการปฏิรูปภาคการศึกษา กระทรวงศึกษามาเลเซียได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งจัดให้มีระบบการประเมินมาตรฐานเพื่อรับประกันคุณภาพของครูและผลลัพธ์ด้านการศึกษา อย่างไรก็ดี แนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลกลับได้รับการต่อต้านจากกลุ่มสหภาพวิชาชีพครู คือ National Union of the Teaching Profession (NUTP) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสหภาพที่เข้มแข็งที่สุดในประเทศ เนื่องจากเห็นว่าระบบการประเมินมาตรฐานครูเป็นการเพิ่มภาระงานด้านเอกสาร ทำให้เวลาที่ควรใช้ในการพัฒนาการสอนลดลง ทั้งยังมีความกังวลว่ากระทรวงศึกษาจะมีการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไปจนทำให้ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากครู ตัวอย่างเช่น การมุ่งเน้นในผลการเรียนของนักเรียน โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่นอกเหนือจากการควบคุมของครู และไม่ได้นำมารวมไว้ในระบบการประเมินมาตรฐานครู ซึ่งจะส่งผลให้ครูได้รับการประเมินอย่างไม่เป็นธรรม

การไม่เห็นด้วยดังกล่าวนำไปสู่ความสัมพันธ์ไม่ดีนักระหว่างรัฐบาลกับครู แทนที่จะเป็นความร่วมมือเพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาให้ดีขึ้น โดยหากจะพิจารณาประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สิงคโปร์ถือเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านการศึกษากับครู โดยในการประเมินครูสิงคโปร์ ปัจจัยที่จะนำมาพิจารณาครอบคลุมไม่เพียงเฉพาะผลการเรียนของนักเรียน แต่ยังรวมถึงการทำประโยชน์เพื่อชุมชนและโรงเรียนของนักเรียนด้วย ส่วนระบบการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ครู อยู่บนพื้นฐานของความสามารถ ไม่ใช่ความอาวุโส ทั้งยังมีการปลูกฝังทัศนคติความเป็นวิชาชีพโดยการคัดเลือกนักเรียนที่อยู่ในระดับสุดยอดของประเทศเท่านั้นเพื่อให้มาเป็นครู ขณะเดียวกัน หลักสูตรการเรียนยังได้รับการพัฒนาจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับครู โดยมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศเป็นแกนหลัก มาเลเซียจึงอาจนำระบบการศึกษาของสิงคโปร์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับครูและผลักดันการดำเนินงานตามแผนงานด้านการศึกษาให้บรรลุตามเป้าหมาย

ส่วนการปฏิรูประบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมีความท้าทายที่แตกต่างออกไป และถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศของมาเลเซียเพื่อมุ่งสู่สังคมผู้มีทักษะความเชี่ยวชาญสูง โดยมีความท้าทายสำคัญ คือ การเพิ่มอัตราการเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย (Enrollment ratio) ซึ่งตามสถิติของธนาคารโลก พบว่า สัดส่วนของคนมาเลเซียที่มีอายุระหว่าง 25-29 ปี เพียงร้อยละ 15 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัติตามที่นายจ้างต้องการ และตามสถิติของกระทรวงศึกษามาเลเซียสัดส่วนร้อยละ 40 ของผู้ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไม่มีงานทำ หรือได้ทำงานในอาชีพที่ไม่ตรงกับคุณวุฒิการศึกษา นอกจากนี้ ความอ่อนแอในทักษะภาษาอังกฤษเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญต่อความสามารถในการรับจ้างทำงาน เนื่องจากหลักสูตรการเรียนในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นภาษามาเลย์ แทนที่จะเป็นภาษาอังกฤษ การปฏิรูประบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษจึงจะช่วยสร้างและพัฒนาทักษะด้านภาษาที่จำเป็นเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจโลกยุคใหม่

ด้วยตระหนักถึงความบกพร่องของระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย นักศึกษาอันดับต้นๆ ของมาเลเซียจึงต้องการออกไปศึกษาในต่างประเทศ โดยในปัจจุบันมาเลเซียมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของนักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาและกำลังเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย โดยได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาล แต่ไม่มีการรับประกันว่านักศึกษาดังกล่าวจะกลับมาทำงานในมาเลเซีย ซึ่งธนาคารโลกเรียกว่าเป็นวิกฤตการณ์สมองไหล ทั้งที่ออกไปทำงานในประเทศพัฒนาแล้วทางฝั่งตะวันตก และประเทศที่เป็นชาติกำเนิดเดิม เช่น จีน และอินเดีย ดังนั้น การสูญเสียคนที่มีความรู้ความสามารถจึงจะยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของมาเลเซียที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ทั้งนี้ ตามรายงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มาเลเซียมีแรงงานที่เข้าข่ายเป็นแรงงานฝีมือสูงในสัดส่วนเพียงร้อยละ 28 ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 และประเทศที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 40 ดังนั้น รัฐบาลมาเลเซียจึงต้องใช้ความพยายามต่อไปจนกว่าการศึกษาในทุกระดับจะมีการปลูกฝังการพัฒนาทักษะด้านการคิดขั้นสูง รวมถึงด้านภาษาอังกฤษ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อไทย

ถึงแม้ปัญหาด้านแรงงานของมาเลเซียจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน แต่ในอนาคตในฐานะที่มาเลเซียและไทยต่างเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนมีการดำเนินการอย่างจริงจังในมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในภูมิภาคภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยการลดข้อจำกัด/อุปสรรคในการเข้าไปทำงานของแรงงานฝีมือจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น และหากมาเลเซียยังไม่สามารถปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาสมองไหลจนทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน แรงงานฝีมือไทยจะมีโอกาสที่จะเข้าไปทำงานในมาเลเซียมากขึ้นเพื่อเติมเต็มช่องว่างความต้องการดังกล่าว โดยเฉพาะในกรณีที่มาเลเซียมีความน่าดึงดูดในแง่อัตราค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ สำหรับแรงงานที่ดีกว่าไทย อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของแรงงานที่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจลดลงตามลำดับ การไหลออกของแรงงานไทยไปในต่างประเทศกลับจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย รัฐบาลจึงควรมีมาตรการเพื่อรักษาแรงงานที่มีคุณภาพไว้ ทั้งยังจำเป็นต้องยกระดับการพัฒนาระบบการศึกษาให้สามารถผลิตแรงงานที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ก้าวข้ามพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้เช่นเดียวกับที่มาเลเซียตั้งเป้าหมายไว้เช่นกัน

ประมวลข้อมูลจาก: The Economist Intelligence Unit, Malaysia economy: Skills shortage is a key hurdle to high-income status, June 2015

สำนักการค้าบริการและการลงทุน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กันยายน 2558

ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ