เกาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของบรูไน ปุเลา มัวรา เบอซาร์ (Pulau Muara Besar)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 15, 2015 15:16 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

บรูไนเป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per capita) สูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ เนื่องจากมีจำนวนประชากรประมาณ 4.1 แสนคน แต่ประเทศสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Real GDP growth) ของบรูไนกลับอยู่ในอันดับสุดท้ายของอาเซียน โดยเกิดจากความผันผวนของสภาพเศรษฐกิจบรูไนที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรูไนที่พึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก สูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเป็นอย่างมาก รัฐบาลบรูไนจึงเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการผลิตและการบริการให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และการบริการในระดับที่สูงขึ้น โดยรัฐบาลบรูไนใช้แผนพัฒนาระยะยาว "วิสัยทัศน์บรูไน ปี 2578" (Wawasan Brunei 2035 หรือ Vision Brunei 2035) เป็นวิสัยทัศน์แห่งชาติ และตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมประเทศเพื่อความเจริญอย่างยั่งยืน รวมทั้งต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยมีโครงการด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ Sungai Liang Industrial Park (SPARK) โครงการ Free Trade Zone ณ ท่าเรือมัวรา (Muara Port) และโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่เกาะ ปุเลา มัวรา เบอซาร์ (Pulau Muara Besar)

โครงการ Free Trade Zone ณ ท่าเรือมัวรา (Muara Port) ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้บรูไนเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาค โดยโครงการดังกล่าวเป็นขั้นแรกของการพัฒนาเขตการค้าเสรีอื่นๆ ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ท่าเรือมัวราก็มีข้อจำกัดทางด้านกายภาพ เนื่องจากไม่สามารถขยายพื้นที่เพิ่มได้ รัฐบาลบรูไนกับ Brunei Economic Development Board (BEDB) จึงวางแผนพัฒนาโครงการ Pulau Muara Besar (PMB) เพื่อพัฒนาเป็นเกาะศูนย์กลางที่ครบวงจรในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะแบ่งหลายส่วนย่อย เช่น นิคมอุตสาหกรรมด้านพลังงานและปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก ท่าเทียบเรือตู้สินค้า เขตอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในเส้นทางการค้าขายทางทะเลฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของประเทศ เป็นจุดขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และเป็นการรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

โครงการ Pulau Muara Besar (PMB) ตั้งอยูบนเกาะใกล้กับทาเรือเขตมัวรา บริเวณอาวบรูไน ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 955 เฮกตาร์ (ส่วนที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี) และสามารถขยายพื้นที่เพิ่มเป็นประมาณ 2,000 เฮกตาร์ ด้วยการถมทะเล ตามแผน Pulau Muara Besar Masterplan ของกลุ่มบริษัท Surbana จากสิงคโปร์ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลบรูไนให้ออกแบบโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงการ PMB ซึ่งจะรองรับโครงการสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการด้านการค้า สร้างแหล่งท่องเที่ยวโดยการถมทะเลเพื่อไปเชื่อมกับ Tanjong Pelumpong ที่เป็นเกาะสังเคราะห์ทางตะวันออกของประเทศ รวมทั้งสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ในส่วนโครงการนิคมอุตสาหกรรมนั้น เป็นโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผลผลิตปลายน้ำของอุตสาหกรรมน้ำมันและกาซธรรมชาติเป็นหลัก โดยบริษัทแรกที่มาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม PMB ไดแก บริษัท เฮงยี่ อินดัสทรี จำกัด (Hengyi Industries Sdn. Bhd.) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท เซอะเจียง เฮงยี่ (Zhejiang Hengyi) จากประเทศจีน โดยบริษัทเฮงยี่ฯ ไดลงนามทำสัญญาในการเช่าที่ดินพื้นที่ 260 เฮกตาร ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรม PMB กับ Brunei Economic Development Board (BEDB) โดยก่อสร้างโรงกลั่นแบบบูรณาการ (Integrated Refinery and Aromatics Cracker Complex) ด้วยงบลงทุนประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มก่อสร้างในปีนี้ และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2561 นอกจากนี้ ยังมีส่วนของท่าเรือน้ำลึก คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าด้วย

ในส่วนการเชื่อมโยงระหว่างโครงการ Pulau Muara Besar กับแผ่นดินใหญ่นั้น รัฐบาลบรูไน โดย BEDB ร่วมกับ China Harbour Engineering Company Limited (CHEC) ในการก่อสร้างสะพาน ถนน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัท CHEC จะรับผิดชอบการก่อสร้างสะพานความยาว 2.7 กิโลเมตรที่จะเชื่อมต่อระหว่างด้านตะวันตกของ PMB กับแผ่นดินใหญ่ ถนนความยาว 2.925 กิโลเมตรภายใน PMB และระบบสาธารณูปโภค เช่น ประปา ไฟฟ้า และสายโทรศัพท์ ทั้งนี้ สะพานดังกล่าวจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2561 นอกจากนี้ การก่อสร้างสะพานดังกล่าวนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมของโครงการ PMB แล้ว ยังสร้างโอกาสแก่ผู้รับก่อสร้างท้องถิ่นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการใหญ่ของรัฐบาลได้ง่ายขึ้นด้วย

รัฐบาลบรูไนคาดการณ์ว่า เมื่อโครงการ PMB เสร็จสมบูรณ์ จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และจะช่วยกระตุ้นให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 ทั้งนี้ โครงการ PMB เป็นโครงการที่มีต้นแบบมาจากโครงการเกาะ Jurong ที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีของสิงคโปร์ และสามารถดึงดูดความสนใจจากบริษัท ปิโตรเคมีชั้นนำของโลกกว่า 100 บริษัท ซึ่งรัฐบาลบรูไนก็ตั้งเป้าหมายให้โครงการ PMB เดินไปในทิศทางเดียวกันกับเกาะ Jurong ของสิงคโปร์ คือ เป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของภูมิภาค สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมปลายน้ำ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศและจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานของคนท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและทำให้บรูไนหลุดพ้นจากการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เพื่อความยั่งยืนของประเทศในอนาคต

ที่มา : The BEDB (Brunei Economic Development Board).

Oxford Business Group. "Brunei Darussalam's industrial island becomes a reality".

Oxford Business Group. "Boosting connections in Brunei Darussalam".

The Brunei Times. "PMB bridge to be finished in 2018".

The Brunei Times. "Hengyi details refinery's capacity".

The Brunei Times. "Planning for PMB project in final stage".

Borneo Bulletin. "Pulau Muara Besar project touted to yield opportunities".

Surbana.com. "Pulau Muara Besar Masterplan".

Brunei Embassy of USA

CIA World Factbook

Department of Foreign Affairs and Trade, Australian Government

สำนักอาเซียน

ส่วนบริหารงานทวิภาคี

กันยายน 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ