ไทย-อิหร่าน พร้อมเร่งขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 3, 2015 13:21 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย (นายฮุสเซน คามาลียัน) ได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และอำลาในโอกาสที่จะพ้นจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายนนี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้แสดงความชื่นชมเอกอัครราชทูตอิหร่านที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้ากับอิหร่าน นอกจากนี้ ยังได้แสดงความยินดีที่อิหร่านและกลุ่มประเทศ P5+1 อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมนี สามารถบรรลุข้อตกลงและจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (Joint Comprehensive Plan of Action - JCPOA) เกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยหวังว่าอิหร่านจะได้รับประโยชน์จากการผ่อนปรนและยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินโดยเร็ว ซึ่งการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจะเป็นโอกาสอันดีระหว่างไทยกับอิหร่านในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

ในการนี้ ไทยพร้อมที่จะส่งออกสินค้าที่อิหร่านมีความต้องการนำเข้า เช่น สินค้าอาหาร โดยเฉพาะสินค้าข้าว และได้เชิญเจ้าหน้าที่จากอิหร่านเดินทางยังเมืองไทย เพื่อตรวจสอบคุณภาพของข้าวไทย ทั้งนี้ สินค้าอื่นๆที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปยังอิหร่าน ได้แก่ ผลไม้ อาหารกระป๋อง และสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ กระดาษ ยางพารา เครื่องปรับอากาศ และของตกแต่งบ้าน ฝ่ายอิหร่านเน้นย้ำว่าการผ่อนปรนการคว่ำบาตรจะเป็นโอกาสอันดีในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยอิหร่านพร้อมเร่งขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับไทย โดยเฉพาะในสาขาอาหารที่อิหร่านมีความต้องการนำเข้า นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนให้ไทยร่วมมือกับอิหร่านในสาขาอื่นๆ อาทิ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ

นางอภิรดี กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องว่า ไทยและอิหร่านมีความคล้ายคลึงกันในด้านที่ตั้งภูมิศาสตร์ โดยไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและอยู่ระหว่างการจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้า 6 ประเทศ หรือ RCEP ซึ่งคาดว่าจะสามารถเจรจาเสร็จสิ้นได้ภายในสิ้นปีนี้ ในขณะที่อิหร่านเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ได้

นางอภิรดี กล่าวเสริมว่า ไทยเตรียมที่จะจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชน นำโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุวิทย์ เมษินทรีย์) เดินทางเยือนอิหร่านในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักธุรกิจของไทยกับอิหร่าน เพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายได้ทำความรู้จักและหาช่องทางในการทำการค้าระหว่างกัน ซึ่งการเดินทางเยือนครั้งนี้ จะเป็นการนำร่องสำหรับการเดินทางเยือนอิหร่านของรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้

อิหร่านเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 11 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง การค้าระหว่างไทยกับอิหร่านในปี 2557 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 357.17 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.08 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย มูลค่าการค้าในปี 2558 (ม.ค. - ก.ย.) การค้าระหว่างไทยกับอิหร่านมีมูลค่า 258.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 2.05 สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว เครื่องดื่ม เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ยางพารา เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และตาข่ายจับปลา และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอิหร่าน ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เคมีภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เชื้อเพลิงอื่น ๆ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ทั้งนี้ การชำระเงินเป็นประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการทำการค้ากับอิหร่าน จึงคาดว่าหลังจากการยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน การค้าระหว่างไทยกับอิหร่านจะขยายตัวขึ้นได้อีกมาก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

30 ตุลาคม 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ