อาเซียนและจีนประสบความสำเร็จในการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2015 16:49 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

อาเซียนและจีนประสบความสำเร็จในการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยผู้นำอาเซียนและจีนได้เป็นสักขีพยานในการลงนามของรัฐมนตรีเศรษฐกิจจีนและรัฐมนตรีเศรษฐกิจประเทศสมาชิกอาเซียนในพิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความตกลงที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 จีนให้ความสำคัญกับอาเซียนในฐานะเพื่อนบ้าน และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน โดยมีนโยบายสร้างความสงบสุขและความมั่งคั่งในภูมิภาค และได้แสดงเจตนารมณ์ในการกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจอย่างรอบด้านกับอาเซียน ทั้งการค้า การลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน การเงิน การศึกษา และวัฒนธรรม และที่สำคัญได้มีการประกาศความสำเร็จในการจัดทำพิธีสารยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน

ทั้งนี้ ไทยในฐานะประธานฝ่ายอาเซียนและประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่ทำให้การเจรจาครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และผลการเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นการเจรจาครั้งประวัติศาสตร์ที่อาเซียนและจีนสามารถตกลงและสรุปผลการเจรจากันได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของอาเซียนในอนาคต ส่งผลให้ประเทศภาคีความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน จะได้รับประโยชน์จากการมีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ยืดหยุ่นและมีกระบวนการศุลกากรที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเพิ่มขึ้น มีการเปิดเสรีการค้าบริการ การส่งเสริมการลงทุนและอำนวยความสะดวกทางการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมหลายสาขามากขึ้น ดังนี้

  • การค้าบริการ อาเซียนและจีนตกลงที่จะเปิดตลาดเพิ่มเติมในหลายสาขา อาทิ การท่องเที่ยว ค้าปลีก ก่อสร้าง สิ่งแวดล้อม บริการธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้การค้าภาคบริการระหว่างกันขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • ด้านการลงทุน อาเซียน-จีนจะปรับปรุงระบบการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีและเอื้อต่อการลงทุน เช่น การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้มีเสถียรภาพ ความโปร่งใส และลดอุปสรรคในการลงทุนให้น้อยลง ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านกระบวนการจัดตั้งธุรกิจและการให้ใบอนุญาต โดยการจัดตั้งศูนย์ให้บริการด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Investment Centres) หรือกลไกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนได้อย่างครบวงจร
  • ด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เอกชนสามารถใช้เกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดที่ยืดหยุ่น และเหมาะสมกับการทำธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดฉบับใหม่ยังช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน เนื่องจากมีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนและส่งเสริมการใช้สิทธิ์ของภาคเอกชน ซึ่งภาคเอกชนไทยจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน
  • ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ มีการเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การกำหนดรายละเอียดกองทุนสำหรับใช้ดำเนินโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติโครงการให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการความร่วมมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยพัฒนาและลดความแตกต่างด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกได้อีกด้วย

ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนได้ลดภาษีระหว่างกันเป็นอัตราร้อยละ 0 ในรายการสินค้าปกติตั้งแต่ปี 2553 คิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด เริ่มเปิดเสรีข้อผูกพันการค้าบริการบางส่วนระหว่างกันแล้วตั้งแต่ปี 2550 เริ่มมีข้อตกลงส่งเสริมการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันตั้งแต่ปี 2552 รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ ซึ่งการเจรจายกระดับฯ ที่ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ จะส่งเสริมและผลักดันให้อาเซียนกับจีนมีการปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพการค้าในปัจจุบันได้ดีขึ้น

ปัจจุบันการค้ารวมระหว่างอาเซียนกับจีนในปี 2558 ช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 302.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2557 การค้ารวมสองฝ่ายมีมูลค่า 479.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 14 ของการค้าอาเซียนทั้งหมด มูลค่าการลงทุนสองฝ่ายในปี 2014 อาเซียนรับการลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีนมีมูลค่า 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 7.1 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดของอาเซียน จากมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีนดังกล่าว จึงคาดว่าการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนครั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนน่าจะบรรลุเป้าหมายการค้าสองฝ่ายที่ผู้นำอาเซียนและจีนได้ตั้งเป้าไว้ให้ขยายตัวถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 และให้การลงทุนสองฝ่ายขยายตัวถึง 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

24 พฤศจิกายน 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ