ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร มุ่งหวังให้ทั้งสองฝ่ายมีการขยายการค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี ภายใต้การจัดตั้งกลไกและความร่วมมือในทุกระดับอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่
การตั้งเป้าขยายมูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มเป็นสองเท่าของมูลค่าการค้าปัจจุบันภายใน 5 ปี (120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563) รวมทั้งความสนใจที่จีนจะเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามแนวนโยบายของรัฐบาล
จัดตั้งหน่วยงานกลาง เพื่อเป็นกลไกสำหรับการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลการค้าและการลงทุน และกลไกเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาทางการค้าและการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในการออกไปประกอบธุรกิจ
เพิ่มการค้าสินค้าเกษตร จีนได้ให้คำมั่นว่าจะไม่มีนโยบายลดการนำเข้ามันสำปะหลังจากไทย และทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะเร่งดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้าสินค้าเกษตรไทย-จีน ซึ่งจะส่งผลให้มีการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีน
ขยายความร่วมมือเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยได้ตั้งเป้าเพื่อให้จำนวนนักท่องเที่ยวสองฝ่ายขยายตัวราว 10 ล้านคน ในปีต่อไป
ขยายความร่วมมือด้านระบบขนส่งไปพร้อมการการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจทางตอนใต้ของไทย ซึ่งจีนแสดงความสนใจนโยบายของไทยที่ต้องการให้ภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายร่วมกันเข้าไปลงทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ภาคใต้มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ศูนย์กลางค้าผลไม้ และอาหารฮาลาล ตลอดจนการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไทยกับจีนตกลงจะหารือร่วมกันในรายละเอียดของความร่วมมือตามแนวนโยบายดังกล่าว
ไทยกับจีนจะดำเนินงานภายใต้โครงการความร่วมมือระบบรางอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีพิธีเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนในวันที่ 19 ธันวาคม ศกนี้
ความพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งความร่วมมือด้านอวกาศ โดยจีนให้ความสนใจต่อแนวคิดการพัฒนานวัตกรรม startups, ความร่วมมือด้าน Food INNOPOLIS การสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) เป็นต้น และทั้งสองจะเดินหน้าร่วมมือกันยกระดับสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ต่อไป
จีนพร้อมนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ภายใต้ความร่วมมือต่างๆ ได้แก่ การทำงานร่วมกันภายใต้พิธีสารว่าด้วยสุขอนามัยสินค้าข้าวที่จะส่งออกไปจีน และการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการห้ามนำเข้ารังนกภายใต้พิธีสารการตรวจสอบภายในทางเทคนิค เพื่อให้รังนกไทยสามารถส่งออกไปจีนได้โดยเร็ว
ด้านการเงิน จีนได้เพิ่มโควตาให้กับประเทศไทย ที่จะอนุญาตให้นักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนในสกุลเงินหยวนในจีนได้ในโควตา 50,000 ล้านหยวน และจะมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน (หยวน-บาท) ได้โดยตรง (Direct Quotation) เพิ่มเติม จากที่มีอยู่แล้วในมณฑลยูนนาน
นอกเหนือจากการขยายโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในตลาดจีนแล้ว ในครั้งนี้ ภาครัฐไทยและจีนได้ลงนามในเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ คือ (1) ผลการประชุม JC ไทย-จีน (Agreed Record of the 4 th JC between Thailand and China) และ (2) พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดการตรวจสอบสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกข้าวจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
นอกจากนั้น ยังมีการลงนามระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของจีน 2 ฉบับ คือ (1) ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมโดยสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ อุทยานวิทยาศาสตร์ และเมืองนวัตกรรมด้านอาหาร ระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ บริษัท Tus Holding และ (2) ความร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระหว่าง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กับ บริษัท Huawei เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 การค้าไทยจีนมีการขยายตัวเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับสถานการณ์โดยทั่วไปในปัจจุบัน ยังถือว่าเป็นมูลค่าที่อยู่ในเกณฑ์บวก (มูลค่า 53,638.86 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51) สำหรับการลงทุนจากจีนในช่วงที่ผ่านมา มีการเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นมากอย่างเด่นชัด โดยจีนขยับมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 4 ของไทย สำหรับด้านการท่องเที่ยว ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปจีนกว่า 6.6 แสนคน และนักท่องเที่ยวจีนมาไทยกว่า 6.68 ล้านคน
กระทรวงพาณิชย์
17 ธันวาคม 2558
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630