‘พาณิชย์’ ปูพรมรับฟังเสียงสะท้อน TPP

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 14:22 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ได้มอบหมายให้รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อนำมาประกอบการศึกษาวิเคราะห์ผลดีและผลเสียของการดำเนินงานภายใต้ทีพีพี โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มีแผนรับฟังความเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง โดยเจาะลึกรายสาขาทั้งในส่วนกลางและทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

นายวินิจฉัย กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หารือรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคมภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร และภาครัฐ มีประเด็นสำคัญ อาทิ การเปิดตลาดสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้ามาตรการทางการค้า การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ การขึ้นทะเบียนตำรับยา การคุ้มครองสิทธิบัตร สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้แทนจากภาคประชาสังคมและนักวิชาการเข้าร่วมหารืออย่างรอบด้าน อาทิ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เครือข่ายมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เสนอแนะให้มีการศึกษารายละเอียดของความตกลงอย่างรอบคอบ รวมถึงประเมินผลกระทบ และผลประโยชน์ที่ทุกภาคส่วนจะได้รับ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ นอกจากนี้ เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการเกษตรให้ความรู้กับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึงเกี่ยวกับผลกระทบและมาตรการเยียวยา รวมทั้งการเตรียมความพร้อมต่อความตกลง TPP สำหรับเรื่องมาตรการควบคุมยาสูบไม่ถือเป็นข้อกังวลของภาคประชาสังคมไทย เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นภายใต้ความตกลง TPP และสอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก

สำหรับภาคธุรกิจ อาทิ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม รวมถึงสมาคมต่างๆ ส่วนใหญ่มีความพร้อมและสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมความตกลงทีพีพี ในกลุ่มสินค้า เช่น ข้าว น้ำตาลทรายดิบ กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ยา การขนส่งสินค้าทางอากาศ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และธุรกิจขายตรง เป็นต้น

ในขณะที่ ภาคเกษตรและปศุสัตว์ อาทิ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เลี้ยงโคนม และสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เห็นว่าไทยยังไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์กับประเทศสมาชิกทีพีพี อาทิ สหรัฐฯ และ ออสเตรเลีย พร้อมทั้งเสนอแนะให้มีการประเมินอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการทำการเกษตรในวิถีไทย รวมทั้ง ต้องการให้มีมาตรการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

นายวินิจฉัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการหารือกับภาครัฐส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่ต้องปรับแก้กฎหมายกฎระเบียบต่างๆ และสร้างกลไกบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับปรุงระบบการตรวจสอบ และเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้มากขึ้น ตลอดจนจัดตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา อาทิ การเกษตร

นอกจากนี้ จะมีการลงพื้นที่รับฟังความเห็นทุกภาคส่วนในภูมิภาคต่างๆ อาทิ จ.ตาก นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี จันทบุรี เชียงใหม่ และขอนแก่น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป เพื่อนำผลการรับฟังข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วนและผลการศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์มาวิเคราะห์ผลดี ผลเสียอย่างรอบด้าน ก่อนนำเสนอระดับนโยบายเพื่อพิจารณาต่อไป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

22 มกราคม 2559

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ