นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า การเดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20–22 เมษายน 2559 ได้เป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนไทย ประกอบด้วยหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กรมศุลกากร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (Trade and Investment Framework Agreement between the United States and the Kingdom of Thailand (TIFA) Joint Council) ในระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโสต่อเนื่องกัน
นางอภิรดี กล่าวว่า สำหรับการประชุม TIFA JC ระดับรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกับ Ambassador Michael Froman ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ภายหลังจากที่ไทยและสหรัฐฯ ได้ว่างเว้นการประชุม TIFA JC ในระดับรัฐมนตรีมานานถึง 13 ปี นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรก เมื่อปี 2546 เพื่อหารือแนวทางการกระชับความสัมพันธ์และการขยายการค้าการลงทุน และการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจของนักลงทุนสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าปัจจุบัน สหรัฐฯ จะเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 และเป็นนักลงทุนสำคัญในไทย แต่ทั้งสองฝ่ายยังเล็งเห็นถึงโอกาสทางการค้าที่จะสามารถพัฒนาให้สหรัฐฯ กลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย
“ในการหารือครั้งนี้ ไทยได้ตอกย้ำความคืบหน้าการดำเนินการตาม Roadmap ของรัฐบาล เพื่อเน้นย้ำให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ มั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ ได้หารือในประเด็นทางเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีความสนใจร่วมกัน อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ธุรกิจการเงิน เพื่อรองรับการเป็นเศรษฐกิจดิจิตัลของไทย ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสหรัฐฯ เห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปของไทย และชื่นชมการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทยภายใต้องค์การการค้าโลก นับเป็นความก้าวหน้าของนโยบายไทยในการเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจในระดับสากล” นางอภิรดี กล่าว
ภายหลังจากที่หารือกันในระดับรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายได้มีการประชุมต่อเนื่องในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง) เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อหารือประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายการค้าการลงทุน และแก้ไขประเด็นเชิงเทคนิคที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน อาทิ การขอให้สหรัฐฯ พิจารณาให้สิทธิ GSP แก่สินค้าหมวดเดินทาง และน้ำมะพร้าว ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่ต้องการและมีศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ การเตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Action Plan) การถอดถอนไทยออกจากสถานะ Primary concern ในเรื่องการค้างาช้างผิดกฎหมายภายใต้ CITES และการเตรียมจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยทางอาหารฉบับใหม่ของสหรัฐฯ (FSMA Readiness Program) ตลอดจนทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำความร่วมมือด้าน E-commerce ไทย-สหรัฐฯ เพื่อรองรับการเป็นเศรษฐกิจดิจิตัลของไทยตามนโยบายของรัฐบาลไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้แต่ละฝ่ายเร่งดำเนินการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และให้มีการประชุมเต็มรูปแบบเพื่อติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ให้ความกระจ่างในประเด็นเชิงเทคนิคเกี่ยวกับความตกลง TPP ซึ่งช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น อันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาแนวทางของไทยต่อความตกลง TPP
นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการหารือกับภาครัฐ ตนได้มีโอกาสหารือกับรองประธานสภาหอการค้าสหรัฐฯ (USCC) เพื่อหาแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างภาครัฐของไทยกับภาคเอกชนสหรัฐฯ รวมทั้งรับทราบแนวทางการมีส่วนร่วมของเอกชนสหรัฐฯ ในการเจรจาความตกลง TPP โดย USCC ได้จัดการรับฟังกลุ่มย่อย (focus group) ในพื้นที่ต่างๆ กับทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และ SMEs กว่า 3,000 รายทั่วสหรัฐฯ เพื่อรับฟังประเด็นที่สหรัฐฯ ต้องการผลักดันในการเจรจา และข้อห่วงกังวลต่อความตกลง TPP ก่อนจัดทำความเห็นเสนอแก่รัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ USCC ยังได้ผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนสหรัฐฯ ผ่านการหารือกับสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สื่อท้องถิ่นทั่วประเทศ และสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Twitter และ Facebook เป็นต้น
นอกเหนือจากการหารือกับ USCC แล้ว ยังได้หารือกับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้ากระเป๋าถือและกระเป๋าเดินทาง(Travel Goods) ชั้นนำของสหรัฐฯ ได้แก่ Coach, Michael Kors และ Under Armor ซึ่งมีกลยุทธ์ในการทำธุรกิจแบบ Global Sourcing จึงสนใจที่จะนำเข้าสินค้า Travel goods จากไทยเพิ่มขึ้น โดยเห็นว่า หากไทยได้รับสิทธิ GSP ในสินค้าดังกล่าวจากสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยที่ดึงดูดการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าในไทย และผลักดันให้ไทยกลายเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานสินค้า Travel goods ทั้งนี้ ภาคเอกชนของสหรัฐฯ ทั้ง USCC และกลุ่มบริษัทผู้ผลิต Travel goods ได้สนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่เอกชนต่างชาติ ในการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอย่างถาวร
ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 37,921.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 24,057.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 13,863.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการลงทุนในปี 2557 สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักของไทยที่มีเงินลงทุนโดยตรงสุทธิ (FDI) สูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยมีมูลค่า 17,124.89 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 10.04 ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 1,655.74 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
25 เมษายน 2559
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630