อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐชิลี (H.E. Mr. Eduardo Frei-Ruiz Tagle) ได้เข้าเยี่ยมคารวะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง) และได้เข้าร่วมปาฐกถาพิเศษในการสัมมนา “การใช้ประโยชน์ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี” ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้น เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายหลังความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี มีผลบังคับใช้ และเห็นควรส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์และผลักดันให้การค้าขยายตัวมากขึ้น นอกจากนั้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้จัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ Business Matching โดยมีนักธุรกิจชิลี 13 บริษัท และไทย 35 บริษัทเข้าร่วมเจรจาการค้า สำหรับสินค้ายานยนต์ อาหาร อัญมณี เฟอร์นิเจอร์ และพลังงาน ซึ่งจะช่วยขยายตลาดและสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ชิลียังสนใจที่จะจัดทำความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนกับไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อขยายโอกาสการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจให้กว้างขึ้น และปัจจุบันชิลีเป็นสมาชิกเริ่มแรกของ TPP ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 40 ของโลก และมีเรื่องต่างๆ อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา โทรคมนาคม แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ทางการค้าที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ นอกจากนั้นชิลีได้กล่าวถึงความสำคัญกับการรวมกลุ่ม Pacific Alliance ซึ่งเป็นการเปิดตลาดระหว่าง 4 ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา (ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู) โดยไทยได้เข้าร่วมเป็น “ประเทศผู้สังเกตการณ์” ด้วย ซึ่งจะมีการจัดประชุมกลุ่ม Pacific Alliance ในเดือนกรกฎาคมนี้ และยังให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนในฐานะภูมิภาคที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะเชื่อมโยงการค้าด้วย และนายวินิจฉัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี ในช่วงเดือนสิงหาคม ศกนี้ เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือในด้านต่างๆ และต่อยอดส่งเสริมการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนระหว่างกันต่อไป
ในโอกาสนี้ ชิลีได้สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วม TPP โดยยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสนับสนุนข้อมูลด้านต่างๆ ด้วยความมุ่งหวังว่าการเข้าร่วม TPP ของไทยจะเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับไทยและประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนายวินิจฉัยฯ ได้กล่าวขอบคุณชิลีที่จะให้การสนับสนุนไทยในการเข้าร่วม TPP ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงด้าน supply chain และขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างศึกษาและหารือกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม และภาคเกษตร พร้อมได้หารือกับคณะทูตจากกลุ่มประเทศสมาชิก TPP คาดว่าในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น
หลังจากการหารือแล้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวเปิดสัมมนาฯ โดยได้เน้นย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต (10 S-Curve) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยมุ่งเน้น 5 อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และต่อยอดให้มีการวิจัยและพัฒนา ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยว การเกษตร และอาหารแปรรูป และอีก 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมี ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร พร้อมส่งเสริมการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และนโยบายส่งเสริมการลงทุน จึงได้เชิญชวนชิลีเข้ามาลงทุนในไทยและใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งและโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นในภูมิภาคซึ่งฝ่ายชิลีสนับสนุน และพร้อมที่จะเป็นประตูการค้าของไทยสู่ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาเช่นกัน
ในปี 2558 การค้าระหว่างไทยชิลีมีมูลค่า 894.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกมูลค่า 612.24 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 283.68 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 328.56 ล้านเหรียญสหรัฐสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปชิลี เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้า ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนสินค้านำเข้าจากชิลี ได้แก่ สินแร่โลหะ สัตว์น้ำสด/แช่เย็น/แปรรูป ผักผลไม้ ไม้และผลิตภัณฑ์ และไวน์ เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
8 เมษายน 2559
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630