นายโน ควัง-อิล (H.E.Mr. Noh Kwang-il) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ และหารือแนวทางขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการค้าที่กำหนดไว้ 2 เท่า หรือประมาณ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 รวมถึงตามผลการเยือนเกาหลีใต้ของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากการเข้าเยี่ยมคาราวะของเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวการค้าในหลายประเด็น อาทิ การผลักดันการยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดไก่แช่แข็ง และการอนุญาตการนำเข้ามะม่วงพันธุ์มหาชนกจากไทย ซึ่งเกาหลีใต้รับจะไปดำเนินการเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ไทยและเกาหลีใต้เป็นสมาชิกการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) ก็จะร่วมมือกันเจรจาให้มีข้อสรุปภายในปีนี้ตามที่ผู้นำได้ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จึงตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
ฝ่ายเกาหลีใต้ ได้ยกประเด็นการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้ากับสินค้าเหล็กนำเข้าจากเกาหลีใต้ ซึ่งฝ่ายไทยแจ้งว่ากระบวนการต่างๆ เป็นไปตามความตกลงภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และมีความโปร่งใส ทั้งนี้เกาหลีใต้ขอให้ไทยสนับสนุนการรื้อฟื้นกรอบการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเชีย-ยุโรป (EMM) โดยเกาหลีใต้ได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีหน้า อีกทั้งได้แจ้งถึงการเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการวางแผนอนาคต (MSIP) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ เพื่อประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยโดยเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามผลการเยือนเกาหลีใต้ของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญของไทย จึงได้เชิญชวนเกาหลีใต้ให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนการขนส่งทางบกในภูมิภาคอาเซียน/ลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์อยู่บริเวณศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งมีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและเป็นตลาดใหม่ และชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบคลัสเตอร์และซูเปอร์คลัสเตอร์ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้เป็นผู้นำและมีศักยภาพ เช่น Cultural Content Industry ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหาร ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันและการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น Trading Nations และ Digital Economy
ปี 2558 เกาหลีใต้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 11 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของเกาหลีใต้ในอาเซียน (รองจากเวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) สำหรับ 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) การค้ารวมไทย-เกาหลีใต้ มีมูลค่าเฉลี่ย 13,088.76 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2558 การค้ารวมมีมูลค่า 11,143.94 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.67 ของการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยเสียเปรียบดุลการค้า 2,934.55 ล้านเหรียญสหรัฐสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปเกาหลีใต้ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ อัญมณีและเครื่องประดับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น และสินค้านำเข้าที่สำคัญของไทยจากเกาหลีใต้ เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรฟ้า สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
12 เมษายน2559
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630