เกษตรกรอีสานยอมรับต้องปรับตัวสู้ TPP

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 6, 2016 16:46 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เกษตรกรกว่า 200 คนจาก 10 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมสัมมนาให้ความรู้และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ลงพื้นที่จัดสัมมนาให้ความรู้และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลง TPP และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 แก่เกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว อ้อย และยางพาราที่สำคัญของไทย โดยมีผู้แทนจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเกษตรกรจังหวัด สภาหอการค้าจังหวัด เครือข่ายเกษตรกร จาก 10 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร เลย สกลนคร บึงกาฬ หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เข้าร่วมการสัมมนา ณ จังหวัดนครพนม

นายวินิจฉัย กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับทราบข้อเสนอเกษตรกรที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ ได้แก่ มาตรการควบคุมเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา โดยส่งเสริมการนำวัตถุดิบทางการเกษตรในท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการทำถนนให้เป็นโครงการนำร่อง เป็นต้น มาตรการปฏิรูปภาคการเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย มาตรการบริหารจัดการระบบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าว การทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรให้ทันสมัย รวมถึงการเพิ่มตลาดกลางสินค้าเกษตร เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละฤดูกาล และมาตรการกำหนดราคากลางสินค้าเกษตร เพื่อให้ราคาซื้อขายเป็นธรรมกับเกษตรกรและสอดรับกับต้นทุนที่แท้จริง

นอกจากนี้ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ยังเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เกษตรกรเกี่ยวกับข้อห่วงกังวลว่าต่างชาติจะนำข้าวหอมมะลิของไทยไปจดทะเบียนในต่างประเทศ ซึ่งการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ในประเทศใดจะมีผลบังคับใช้เฉพาะในประเทศนั้น อีกทั้งข้าวหอมมะลิเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทย หากนำไปใช้ในการศึกษา ทดลอง และวิจัยจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ และทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไม่ว่าไทยจะเข้าร่วมความตกลง TPP หรือไม่นั้น เกษตรกรต้องยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งในด้านมาตรฐานและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโดยใช้นวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีสินค้าคล้ายคลึงและสามารถทดแทนสินค้าไทยได้

อย่างไรก็ดี เกษตรกรบางส่วนให้การสนับสนุนในการเข้าร่วมความตกลง TPP ของไทยในอนาคต โดยเห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าภายใต้ความตกลงฯ จะช่วยลดต้นทุนการเกษตรจากการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรและยานยนต์สำหรับขนส่งสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาถูก ตลอดจนช่วยยกระดับมาตรฐานภาคเกษตรของไทยผ่านความร่วมมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีกับประเทศสมาชิก TPP ซึ่งจะช่วยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ทั้งนี้ เกษตรกรขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตร โดยให้มีการดำเนินนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการของกระทรวงพาณิชย์ ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบการค้ายุคใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความตกลง TPP อย่างต่อเนื่อง เพื่อคลายข้อห่วงกังวลของเกษตรกร

นอกจากนี้ ผู้แทนหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอแนะให้มียุวชนเกษตรกรเข้าร่วมการสัมมนาฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรียุคใหม่ และเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการเกษตร ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการยกระดับภาคการเกษตรของไทย เพื่อสร้างรากฐานสำหรับการพัฒนาการเกษตรจากรุ่นสู่รุ่นให้เท่าทันกับการเปลี่ยนทางการค้าโลกต่อไป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

31 สิงหาคม 2559

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ