ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ยินดีต่อความสำเร็จการเจรจาจัดทำข้อบทด้านการค้าบริการและลงทุนและเห็นชอบต่อแผนงานยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี ฉบับปรับปรุงใหม่
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว อาเซียนและญี่ปุ่นสามารถสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลงด้านการค้าบริการและการลงทุนได้แล้ว โดยด้านการค้าบริการจะครอบคลุมเรื่องการเงิน โทรคมนาคม และการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา รวมทั้งยังแนบตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีบริการด้วย สำหรับด้านการลงทุนจะครอบคลุมกฎเกณฑ์การเปิดเสรี การคุ้มครอง และการอำนวยความสะดวกทางการลงทุน ทั้งนี้ อาเซียนและญี่ปุ่นจะจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการลงทุนร่วมกันต่อไปนอกจากนี้ ที่ประชุมเร่งรัดขอให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายหาข้อสรุปในประเด็นคงค้าง เช่น การปรับเปลี่ยนพิกัดศุลกากรตามของตารางการลดภาษีศุลกากร (TRS) และบัญชีกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าให้เป็นไปตามระบบฮาร์โมไนซ์รอบปีล่าสุด เพื่อให้มีความทันสมัย เป็นต้น
นางอภิรดี เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นครั้งนี้ ได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนงานยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี ฉบับปรับปรุงใหม่ ครอบคลุมระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2559-2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทรัพย์สินทางปัญญา และมาตรฐานต่าง ๆเป็นต้น ทั้งนี้ แผนงานยุทธศาสตร์ฉบับปรับปรุงยังสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี ค.ศ. 2025 (AEC Blueprint 2025) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ รับทราบผลการดำเนินงานของภาคเอกชนอาเซียน-ญี่ปุ่น อาทิ คณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียนและญี่ปุ่น (AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee: AMEICC) สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในอาเซียน (Dialogue of the Federation of Japanese Chambers of Commerce and Industry in ASEAN : FJCCIA) และการประชุมเจรจาภาครัฐและเอกชนว่าด้วยอุตสาหกรรมใหม่ (Public- Private Dialogue on new industries) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงในสาขาที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านอุตสาหกรรม การบริการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน เป็นต้น
ทั้งนี้ ก่อนหน้าการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้หารือสองฝ่ายกับและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Mr. Hiroshige Seko) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ไทยพร้อมที่จะเป็น Platform เพื่อเชื่อมโยงญี่ปุ่นไปยังประเทศ CLMV ทั้งนี้ ไทยขอให้ญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนโครงการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Human Resources Development Institute Project: AHRDIP) ภายใต้ JTEPA ในขณะที่ญี่ปุ่นขอให้ไทยเริ่มต้นเจรจาเรื่องการเปิดเสรีเพิ่มเติมสินค้ายานยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์มากกว่า 3,000 ซีซี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการเข้าร่วมความตกลง TPP ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับความตกลง TPP ทั้งนี้ ญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นการเปิดเสรีเฉพาะการค้าสินค้า ส่งผลให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2558 ขยายตัวสูงถึง 239.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.5ของการค้ารวมของอาเซียน ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากจีน สำหรับการลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นมายังอาเซียนในปีที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 17.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยญี่ปุ่นยังคงครองตำแหน่งนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 14.5 ของเม็ดเงินลงทุนทางตรงทั้งหมดในอาเซียน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
9 สิงหาคม 2559
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630