ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2559 ณ กรุงเทพฯ โดยการเจรจารอบนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก สองฝ่ายเห็นว่าควรเร่งเจรจาให้จบภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้มีผลใช้บังคับต้นปีหน้า
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 5 เปิดเผยว่า การเจรจารอบนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือเกี่ยวกับรูปแบบการลดภาษีการเปิดตลาดสินค้า และกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าที่ไทยได้ยื่นข้อเสนอให้ปากีสถานพิจารณาในการเจรจารอบที่ผ่านมา รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับรายการสินค้าที่แต่ละฝ่ายเรียกร้องให้ลดภาษี
ทั้งนี้ ไทยเสนอให้ปากีสถานเปิดตลาดสินค้าสำคัญ เช่น อาหารแปรรูป น้ำตาล เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และพลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ไม้อัด ไม้บาง และไม้แผ่น เยื่อและกระดาษ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น โดยไทยยินดีให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ปากีสถานด้านการตรวจสอบถิ่นกำเนิดและตรวจ-ปล่อยสินค้าที่กรมศุลกากรของไทย ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งเจรจาให้จบภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้มีผลใช้บังคับต้นปีหน้า โดยปากีสถานจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจาครั้งต่อไป ในเดือนธันวาคม 2559 ที่กรุงอิสลามาบัด
นางสาวสุนันทา กล่าวว่า การจัดทำ FTA ไทย-ปากีสถาน จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองประเทศทั้งด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เป็นการเพิ่มโอกาสการนำเข้าโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ โดยปากีสถานยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก การส่งออกสินค้าของไทยไปประเทศปากีสถานและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ
ไทยและปากีสถานตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยปากีสถานมีที่ตั้งที่สามารถเป็นแหล่งการลงทุนและกระจายสินค้าสำหรับประเทศไทยไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ส่วนไทยก็ตั้งอยู่ตรงกลางของประเทศในกลุ่มอาเซียน และสามารถเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าและแหล่งลงทุนแห่งใหม่ให้แก่ปากีสถานได้ จะเห็นได้ว่าไทยและปากีสถานมีลู่ทางขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างมากทั้งนี้ ในปัจจุบันมีนักลงทุนไทย ได้แก่ บริษัทสยามซีเมนต์ บริษัทไทยยูรีเทน เคมีคัลอินดัสเตรียล บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี. ปากีสถาน) ได้เข้าไปลงทุนในปากีสถานแล้ว
ในปี 2558 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 42 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,032.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.8 การส่งออกมีมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 4.38การนำเข้ามีมูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.6ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับปากีสถานในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) มีมูลค่าเฉลี่ย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวลดลงเฉลี่ย 44.96 ต่อปี และมีสัดส่วนการค้าเฉลี่ยร้อยละ 0.23 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด
สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของปากีสถาน เช่น สิ่งทอ (เครื่องนุ่งห่ม ผ้าลินิน ผ้าฝ้าย เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกีฬา เคมีภัณฑ์ พรม เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่มีศักยภาพของปากีสถาน เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องจักร พลาสติก อุปกรณ์เพื่อการขนส่ง น้ำมันพืช กระดาษ เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น ปัจจุบันปากีสถานมี FTA กับประเทศจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา และมอริเชียส และอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงทางการค้ากับไทย ตุรกี และเกาหลีใต้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
18 พฤศจิกายน 2559
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630