สมาชิก RCEP เจรจาคืบ หวังผลักดันให้สรุปโดยเร็ว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 13, 2017 14:01 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

คณะกรรมการเจรจาการค้าของประเทศสมาชิก RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership – Trade Negotiation Committee: RCEP-TNC) เร่งเจรจาผลักดันเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทย เปิดเผยหลังการเข้าร่วมการประชุมRCEP-TNC ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม 2560 ณ กรุงโตเกียว และเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นว่า “ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 Mr. Hiroshige Seko รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) และ Mr. Kentaro Sonoura รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs: MOFA)ได้เชิญคณะกรรมการเจรจาการค้า (TNC) ของประเทศสมาชิก RCEP เข้าร่วมหารือแนวทางการผลักดันการเจรจาให้สามารถสรุปผลได้โดยเร็วที่สุด โดยประเทศสมาชิก RCEP เน้นย้ำให้เร่งสรุปผลการเจรจาโดยเร็วและหาแนวทางที่จะทำให้การเจรจามีความคืบหน้าและสะท้อนผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก หลายประเทศย้ำว่าการที่จะสามารถประกาศผลการเจรจาอย่างมีนัยสำคัญได้นั้น การเจรจาจะต้องมีความคืบหน้าในทุกประเด็นไม่ใช่เฉพาะประเด็นหลัก เพราะทุกประเด็นมีความสำคัญและแต่ละประเทศมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจะต้องสรุปทุกเรื่องพร้อมกัน เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น”

นายรณรงค์ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยได้กล่าวต่อรัฐมนตรีญี่ปุ่นและ TNCของประเทศสมาชิก RCEP ว่า “รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้ให้ความสำคัญกับการเจรจา RCEP อย่างมาก และได้ให้แนวทางให้ไทยมีบทบาทในการผลักดันการเจรจาให้มีความคืบหน้า โดยไทยพร้อมที่จะปรับท่าทีให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้การเจรจาบรรลุผลสำเร็จ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการค้าต่อผู้ประกอบการไทย ไม่ได้ให้ประโยชน์เฉพาะแต่กับผู้ประกอบการและนักลงทุนของต่างชาติเท่านั้น”

นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเจรจารอบโกเบมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง ซึ่งในการเจรจาที่มีหลายฝ่ายร่วมเจรจานั้น การที่จะยอมรับข้อเสนอของอีกฝ่ายเป็นเรื่องที่หาฉันทามติยาก แต่ที่ประชุมได้ผลักดันให้สมาชิกพยายามยื่นปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดเพิ่มเติมทั้งด้านสินค้า บริการและการลงทุน จากที่มีการยื่นข้อเสนอเบื้องต้นไปแล้ว ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้า ทั้งนี้ การยื่นข้อเสนอเปิดตลาดเพิ่มเติมจะส่งผลดีต่อการเจรจาที่ยังตกลงกันไม่ได้ จะทำให้สามารถประเมินระดับการเปิดเสรีของความตกลง RCEP ได้ ดังนั้น การประชุมครั้งหน้าจะมีความเข้มข้นอย่างมาก”

นายรณรงค์ เปิดเผยต่อไปว่า “สำหรับไทยมีแผนที่จะยื่นข้อเสนอการลดภาษีสินค้าเพิ่มเติมจากรอบแรก ซึ่งควรจะต้องถึงร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดจากเดิมที่ยื่นไปแล้วร้อยละ 80 ซึ่งเป็นไปตามมติของที่ประชุมและเป็นท่าทีของอาเซียน คณะเจรจาฯ ต้องมีความพยายามที่จะเรียกร้องให้ประเทศเป้าหมายยื่นข้อเสนอเปิดตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้อเสนอเปิดตลาดสินค้า โดยไทยเล็งเห็นเป้าหมายในการเข้าสู่ตลาดประเทศอื่นๆ เช่นกัน หากประเทศอื่นทำไม่ได้ถึงร้อยละ 90 ก็จะต้องเรียกร้องให้มีการเปิดตลาดเท่ากับที่ไทยจะเปิด สำหรับด้านการค้าบริการและการลงทุน จะต้องยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกสาขาบริการ เช่น โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ ขนส่ง โลจิสติกส์ วิชาชีพ และการเงิน เป็นต้น รวมถึงการลงทุนที่จะต้องครอบคลุมในทุกสาขา เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และการผลิต เป็นต้น

นอกจากนี้ บทลงทุนจะมีความสำคัญมากสำหรับภูมิภาค RCEP โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองนักลงทุน รวมถึงการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนและรัฐ (ISDS) เนื่องจากนักลงทุนต้องได้รับความคุ้มครองในการลงทุน ซึ่งไทยได้ผลักดันที่ประชุมให้เริ่มการเจรจาโดยเร็ว ทั้งนี้ ในการเตรียมการเพื่อยื่นปรับปรุงข้อเสนอการเปิดตลาดเพิ่มเติม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นและเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนเมษายน เพื่อที่จะยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมภายในช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ดี ความตกลง RCEP มีหลายมิติที่สะท้อนผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกจะได้รับประโยชน์ในมิติใด หากการเจรจาเสร็จสิ้นแล้วคาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไทย ดังนั้น ขอให้ทุกฝ่ายมีความอดทนและรอดูผลการเจรจาที่มีทั้งได้และเสีย โดยจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งล่าสุดในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 8 – 10 มีนาคม 2560 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ประชุมก็ได้เน้นย้ำให้สรุปผลการเจรจาให้ได้โดยเร็วที่สุด”

การประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 18 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2–12 พฤษภาคม 2560 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีการรายงานความคืบหน้าการเจรจาและประเด็นระดับนโยบายที่จะต้องตัดสินใจต่อที่ประชุมรัฐมนตรี RCEP ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2560 ณ ประเทศเวียดนาม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

10 มีนาคม 2560

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ