ในวันที่ 13 มีนาคม 2560 เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย (นายฮาซิม อัสสัยยิด บะดะวีย์ อัฏฏอฮิรีย์) ได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยและอียิปต์มีความสัมพันธ์กันมายาวนานกว่า 60 ปีโดยทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าที่ดีมาโดยตลอด โดยอียิปต์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในแอฟริกา ทั้งสองประเทศมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่เกื้อหนุนกันอียิปต์สามารถเป็นประตูการค้าสู่ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา ในขณะที่ไทยสามารถเป็นเป็นประตูการค้าไปยังอาเซียนและประเทศสมาชิก RCEP ได้ นอกจากนั้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจสามารถเติมเต็มซึ่งกันและกัน ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของอียิปต์ ในขณะที่สินค้าส่งออกหลักของอียิปต์คือ เหล็ก เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินแร่โลหะ ในการนี้ อียิปต์ได้แจ้งความจำนงต้องการนำเข้าข้าวในรูปแบบระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (Government to Government: G2G) ซึ่งไทยยินดีพร้อมหารือในรายละเอียด นอกจากนี้ อียิปต์ยังต้องการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋อง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาล และน้ำมันสำหรับการประกอบอาหารที่ได้มาตรฐานของอียิปต์จำนวนมาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าวแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ครั้งที่ 1 ควบคู่กับการประชุมของสภาธุรกิจไทย-อียิปต์ หลังจากได้มีการจัดทำความตกลงทางการค้าตั้งแต่ปี 2527 โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการประสานงานเพื่อหาวันที่เหมาะสมรวมถึงกำหนดประเทศเจ้าภาพต่อไป การประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายสามารถหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการขยายการค้าและการลงทุน การแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าในสาขาที่ทั่งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน
ปัจจุบัน อียิปต์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยในกลุ่มภูมิภาคแอฟริกา ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1ของอียิปต์ในภูมิภาคอาเซียน การค้าระหว่างไทยกับอียิปต์ในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา (2555 -2559) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 997 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ในปี 2559 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 838 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 28.45 จากปี 2558 สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในอียิปต์ ได้แก่ สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปลาทูน่ากระป๋อง อาหาร สินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า สาขาที่ไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุน ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร การบริการนวดสปา
ปัจจุบันอียิปต์เป็นสมาชิกตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (COMESA) ซึ่งมีสมาชิก 19 ประเทศ (บุรุนดี โคมอรอส สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จิบูติ อียิปต์ เอริเทรีย เอธิโอเปีย เคนยา ลิเบีย เซเชลล์ มาดากัสการ์ มาลาวี มอริเซียส รวันดา ซูดาน สวาซิแลนด์ ยูกันดา แซมเบีย และซิมบับเว)นอกจากนี้อียิปต์เป็นสมาชิกTripartite Free Trade Area (TFTA) ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา มีสมาชิก 26 ประเทศ ประชากรรวมกันประมาณ 674 ล้านคนและมีความตกลงความเป็นหุ้นส่วนอียิปต์ – สหภาพยุโรป (Egypt – EU Partnership Agreement)ความตกลงการค้าเสรีอาหรับ – เมดิเตอร์เรเนียน (Arab – Mediterranean Free Trade Agreement) (อียิปต์ จอร์แดน ตูนิเซีย โมร็อกโก) รวมทั้งมีการจัดทำ Egypt – USA Trade and Investment Framework Agreement (TIFA) และได้จัดทำความตกลงด้านสิทธิพิเศษทางภาษี (Tax Preferential Agreement)กับประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิตาลี ฝรั่งเศส รัสเซีย ปากีสถาน ตุรกี ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
13 มีนาคม 2560
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630