ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า หรือ TFAภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนและความยุ่งยากของกระบวนการส่งออก/นำเข้า ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ในส่วนของไทยพร้อมดำเนินการตามพันธกรณี โดยเฉพาะกระบวนการทางศุลกากร และการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดนสินค้า
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่าเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (TFA) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนและแก้ไขกระบวนการส่งออก/นำเข้าที่ยุ่งยาก เป็นอุปสรรคต่อการค้า รวมทั้งนำเทคโนโลยีและระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดนมาใช้ เพื่อลดต้นทุนทั้งด้านการเงิน ระยะเวลา และความไม่แน่นอนของขั้นตอนการนำเข้า ส่งออก และการผ่านแดนของสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก WTO
ความตกลง TFA มีผลใช้บังคับเมื่อจำนวนสมาชิกเกินกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิก WTO ทั้งหมด หรือเกินกว่า 110 ประเทศ จากทั้งหมด 164 ประเทศ ให้การยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลกเพื่อผนวกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลก โดยรวันดา ชาด โอมาน และจอร์แดน ให้การยอมรับพิธีสารแก้ไขฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีจำนวนสมาชิกที่ให้การยอมรับแล้ว 112 ประเทศ ทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับทันที และสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะมีผลใช้บังคับในอีก 1 ปีให้หลัง ทั้งนี้ ไทยได้ให้การยอมรับพิธีสารแก้ไขฯ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2558 เป็นสมาชิกลำดับที่ 21 สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่ให้การยอมรับพิธีสารฯ จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากความตกลงนี้ และในอาเซียนมีเพียงอินโดนีเซียที่ยังไม่ได้ผูกพันต่อความตกลงนี้
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการดำเนินการตามพันธกรณีของความตกลง TFA ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการทางศุลกากรและการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดนสินค้า เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการดำเนินการ เช่น การตรวจปล่อยสินค้าเน่าเสียง่ายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มช่องทางการชำระภาษีอากรและค่าธรรมเนียมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์การใช้ระบบบริหารความเสี่ยงในการตรวจปล่อยสินค้า รวมถึงการสนับสนุนให้มีการกำหนดโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งผ่านแดน เช่น การกำหนดเส้นทางการเดินรถหรือท่าเทียบเรือสำหรับสินค้าผ่านแดนเป็นการเฉพาะ เป็นต้น
ธนาคารโลกและองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) ประมาณการว่าการปฏิบัติตาม TFA อาจเพิ่มมูลค่าการส่งออกต่อปีระหว่าง 30,000 – 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วยลดต้นทุนการค้าได้ โดยกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่อหัวปานกลางขั้นสูง รวมถึงประเทศไทย จะสามารถลดต้นทุนการค้าลงได้ประมาณร้อยละ 12.9
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630