ถ้าฉันจะไปเป็นพยาบาลในสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 18, 2016 14:11 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

หลายครั้งที่เราพูดถึงการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้าย 7 วิชาชีพ อันได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักสำรวจ วิศวกร และสถาปนิค รวมถึงการอำนวยความสะดวกในเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอีก 1 สาขา ภายใต้กรอบอาเซียน ซึ่งเราก็มักจะพูดถึงเฉพาะหลักเกณฑ์และการอำนวยความสะดวกในส่วนของไทยในฐานะขารับเท่านั้น เราก็มักจะบอกว่าเรากำหนดเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ผู้เข้ามาประกอบวิชาชีพดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง แต่เรามักไม่ค่อยพูดถึงในฝั่งขาออก นั่นก็คือ เงื่อนไข คุณสมบัติ และข้อจำกัดของประเทศปลายทาง หรือประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

บทความฉบับนี้ จึงจะขอกล่าวถึง กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพของพยาบาลในฝั่งขาออกกันบ้าง ซึ่งในที่นี้ จะพูดถึงประเทศสิงคโปร์ ว่ามีกฎเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายพยาบาลเข้าไปประกอบอาชีพในบ้านเขาอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ การเข้าเมืองและการพำนักชั่วคราว กฎเกณฑ์การเข้าสู่ตลาดวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และกฎเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิในการประกอบวิชาชีพ เผื่อว่าข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับพยาบาลไทยที่จะออกไปทำงานในสิงคโปร์ ที่จะเป็นเหมือนบันไดขั้นแรกที่จะเริ่มต้นศึกษาลู่ทางในการออกไปทำงานพยาบาลวิชาชีพในสิงคโปร์

"กฎเกณฑ์การเข้าเมืองและการพำนักชั่วคราวในสิงคโปร์เป็นอย่างไร"

กฎเกณฑ์เรื่องการเข้าเมืองและการพำนักชั่วคราวถือเป็นด่านแรกที่ทุกคนที่ต้องรับทราบก่อนเรื่องอื่นๆ ซึ่งสิงคโปร์นั้นใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในสิงคโปร์ นั่นหมายความว่าผู้ให้บริการวิชาชีพพยาบาล ก็ต้องปฏิบัติตามด้วย โดยชั้นแรกสามารถเข้าเมืองได้ไม่เกิน 30 วัน โดยยังไม่สามารถทำงานได้จนกว่าจะได้ใบอนุญาตทำงานเท่านั้น ทั้งนี้ รายละเอียดสามารถศึกษาได้จาก กฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง (Immigration Act (Chapter 133)) และในเรื่องที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์สินเพื่อการอยู่อาศัย สามารถศึกษาได้จากกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินเพื่อการอยู่อาศัย (Residential Property Act (Chapter 274)) และกฎหมายว่าด้วยที่อยู่อาศัยและการพัฒนา (Housing and Development Act (Chapter 129))

"กฎเกณฑ์การเข้าสู่ตลาดวิชาชีพการพยาบาล"

ทีนี้ เมื่อเข้าเมืองได้แล้ว บันไดขั้นถัดไปก็คือการเข้าสู่ตลาดวิชาชีพพยาบาล โดยจะพิจารณาจากสิ่งที่เรียกว่า "ข้อตกลงยอมรับร่วมกันของอาเซียนด้านวิชาชีพการพยาบาล" (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Nursing Services) หรือ "ข้อตกลง MRA วิชาชีพพยาบาล" รวมถึงกฎหมายภายในของสิงคโปร์ในเรื่องวิชาชีพพยาบาล

สำหรับข้อตกลง MRA วิชาชีพพยาบาล มีการกำหนดให้พยาบาลทุกคนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลที่ได้รับจากประเทศสมาชิกแหล่งกำเนิด หรือ Home Country (ซึ่งในกรณีนี้ก็หมายถึงไทยนั่นเอง) มีประสบการณ์ในภาคปฎิบัตวิชาชีพพยาบาลไม่น้อยกว่า 3 ปีต่อเนื่อง ก่อนที่จะสมัครขึ้นทะเบียนหรือขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากประเทศเจ้าบ้าน หรือ Host Country (ซึ่งในกรณีนี้ก็หมายถึงสิงคโปร์นั่นเอง) ดังนั้น หน่วยงานสิงคโปร์ก็จะเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในข้อตกลง MRA ยังไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้แน่ชัดว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง จึงจะได้รับการขึ้นทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาต ซึ่งหมายความว่าพยาบาลวิชาชีพผู้นั้น อาจไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสิงคโปร์ก็เป็นได้ กระบวนการตรงนี้เอง จึงต้องไปดูกฎหมายภายในของสิงคโปร์อีกชั้นหนึ่ง ว่าหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพยาบาลในสิงคโปร์กำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติใดบ้าง

ทั้งนี้ ตามกฎหมายภายในของสิงคโปร์ มีกฎเกณฑ์ซึ่งใช้บังคับกับผู้ให้บริการวิชาชีพพยาบาลทุกคน ว่าจะต้องจบหลักสูตรการพยาบาลและในกรณีที่จบจากสถาบันนอกสิงคโปร์ คณะกรรมการพยาบาลสิงคโปร์ (Singapore Nursing Board) จะเป็นผู้พิจารณาหลักสูตรและสถาบันที่จบการศึกษา รวมทั้งการทดสอบสมรรถนะ การทดสอบปฏิบัติจากแพทย์ และการผ่านหลักสูตร Induction Programme ด้วย ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากกฎหมายว่าด้วยการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (Nurses and Midwives Act (Chapter 209))

"หากเข้าไปประกอบอาชีพดังกล่าวในสิงคโปร์แล้ว จะมีกฎเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิในการประกอบวิชาชีพอย่างไร"

หลังจากได้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพในสิงคโปร์แล้ว ก็น่าจะต้องศึกษากฎเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิในการประกอบวิชาชีพดังกล่าวด้วย โดยกฎเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อวิชาชีพพยาบาลและผดุงครรภ์ได้ มีอยู่ใน 2 ระดับเช่นกัน ได้แก่ กฎเกณฑ์ของอาเซียน และกฎหมายภายในของสิงคโปร์ โดยในชั้นของอาเซียนปรากฏอยู่ใน "ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ" (ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers) โดยมีขอบเขตบังคับใช้กับแรงงานซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นคนชาติของประเทศสมาชิกทุกคน ซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการวิชาชีพการพยาบาลด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นหลักการกว้างๆ ในเรื่องของการปฏิบัติที่เป็นธรรมและหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ยังไม่มีกฎเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิในเรื่องการประสานระบบประกันสังคมของประเทศสมาชิก การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อแรงงานที่เป็นคนของประเทศสมาชิกอื่น การจัดเวลาทำงาน การจ้างงานที่เป็นธรรมและมาตรฐานที่อยู่อาศัย รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นของแรงงานที่เป็นคนชาติสมาชิกอื่นด้วย เมื่อยังไม่มีการประสานกฎระเบียบในเรื่องดังกล่าว ก็จะทำให้มาตรฐานในการปฏิบัติแต่ละประเทศสมาชิกยังคงมีความแตกต่างกัน และเป็นผลทำให้ผู้ที่เคลื่อนย้ายไปประกอบวิชาชีพในประเทศสมาชิกอื่น ยังต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แตกต่างกันซึ่งอาจจะดีกว่าหรือแย่ลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆ

ในชั้นที่ 2 เมื่อพิจารณากฎหมายภายในสิงคโปร์ในเรื่องดังกล่าว จะพบว่าปรากฏอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment of Foreign Manpower Act (Chapter 91A)) ซึ่งควบคุมการอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ และเมื่อแรงงานต่างชาติได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศสิงคโปร์แล้วยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการจ้างงาน (Employment Act (Chapter 91)) ซึ่งวางกฎเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการปฏิบัติในการการจ้างงาน เช่น สัญญาจ้าง การจ่ายเงินเดือน การทำงานนอกเวลา วันหยุด วันป่วย วันลา เป็นต้น อีกฉบับหนึ่งด้วย

"ช่องทางในการเข้าไปเป็นพยาบาลในสิงคโปร์"

อ่านมาถึงตรงนี้ ก็พอจะทำให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าการจะเข้าไปเป็นพยาบาลในสิงคโปร์นั้น สามารถทำได้หลายช่องทาง ซึ่งจะขอสรุปเป็น Flow Chart เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้

โอกาสที่เพิ่มมากขึ้น

จากช่องทางใน Flow Chart ข้างต้น จะเห็นว่าพยาบาลอาเซียน ซึ่งในที่นี้ คือพยาบาลไทย จะมีโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นจากช่องทางปกติในการใช้สิทธิภายใต้ MRA แม้ว่าจะต้องผ่านกฎเกณฑ์และการทดสอบจากหน่วยงานภายในของสิงคโปร์ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพพยาบาลในสิงคโปร์ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดพยาบาลในไทย พบว่าตลาดพยาบาลในไทยยังคงขาดแคลน เนื่องจากข้อจำกัดในด้านต่างๆ ในขณะที่ตลาดพยาบาลในสิงคโปร์ มีแรงจูงใจมากกว่าในเรื่องค่าตอบแทนที่สูงกว่า และพบว่ามีความต้องการพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากสัดส่วนประชากรในวัยสูงอายุที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในอาเซียน พร้อมกับสิงคโปร์มียุทธศาสตร์ในด้านการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค ซึ่งก็หมายความว่า จะมีความต้องการวิชาชีพในสาขาการพยาบาลเพิ่มมากขึ้นตามสัดส่วนตลาดที่ขยายตัว โดยจากเดิมสิงคโปร์มีฐานผู้รับบริการจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน แต่ปัจจุบันได้หันมาจับตลาดขนาดใหญ่อย่างจีนและตะวันออกกลาง เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในเรื่องความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษและจีนได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นแล้ว หากพยาบาลวิชาชีพของไทยมีความสนใจที่จะเข้าไปให้บริการวิชาชีพในสิงคโปร์ นอกเหนือจากจะต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าเมืองและการพำนักชั่วคราว หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขออนุญาตใบประกอบวิชาชีพและการทำงานในสิงคโปร์ รวมทั้ง สิทธิต่างๆ ในการประกอบวิชาชีพในสิงคโปร์แล้ว ยังต้องพัฒนาทักษะด้านภาษาประกอบด้วย จึงจะสามารถแข่งขันในตลาดวิชาชีพพยาบาลในสิงคโปร์ได้

สำนักการค้าบริการและการลงทุน

สิงหาคม 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ