การค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว : การพัฒนาศักยภาพการค้าชายแดนไทยไปยัง สปป.ลาว และไปยังประเทศที่สาม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 22, 2016 14:14 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

การค้าชายแดนไทยไป สปป.ลาว และการค้าผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีนและเวียดนาม กล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบการค้าที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากปริมาณสินค้าและมูลค่าการค้าระหว่างกันที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 85 ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับ สปป.ลาว กัน โดยในปี 2557 มูลค่าการค้าเป็นการค้าชายแดนไทยไป สปป.ลาว คิดเป็นกว่า 1.2 แสนล้านบาท การค้าผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้ 2.1 หมื่นล้านบาท และเป็นการค้าผ่านแดนไทยไปเวียดนาม 2.2 หมื่นล้านบาท รวมเป็นมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท

การค้าชายแดนไทยไป สปป.ลาว และการค้าผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีนและเวียดนามมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับเส้นทางขนส่งทางถนนที่เชื่อมต่อระหว่างสี่ประเทศ กฎเกณฑ์ แนวนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยพบว่า ในทางปฏิบัติการค้าระหว่างกันจะมีการใช้เส้นทางสายหลักรวมทั้งสิ้น 4 สาย ประกอบด้วย เส้นทางถนนสาย R3A R8 R9 และ R12 ซึ่งจะข้ามพรมแดนจากไทยไปยัง สปป.ลาว โดยอาศัยสะพานข้ามพรมแดน (สะพานมิตรภาพไทย - ลาว) ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ระหว่าง จังหวัดหนองคาย - นครหลวงเวียงจันทน์ สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ระหว่างจังหวัดมุกดาหาร - แขวงสะหวันนะเขต สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ระหว่างจังหวัดนครพนม - แขวงคำม่วน และสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 ระหว่างจังหวัดเชียงราย - แขวงบ่อแก้ว ในขณะที่มีจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนทางการค้าตลอดแนวทางชายแดน ซึ่ง ณ เดือนกรกฎาคม 2558 จุดผ่านแดนของไทยบริเวณชายแดนไทย - สปป.ลาว ประกอบด้วยจุดผ่านแดนถาวร 19 แห่ง และจุดผ่อนปรนทางการค้า 29 แห่ง ทั้งนี้ หากมีการการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็จะเป็นตัวส่งให้ศักยภาพการค้าของไทยเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ดี ปัญหาอุปสรรคที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพการค้าของไทยพบว่า มีทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างทางกายภาพและปัญหาในด้านการอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทางขนส่ง เช่น เส้นทางคมนาคมขนส่งใน สปป.ลาวมีสภาพถนนค่อนข้างคดเคี้ยวและยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอ ความไม่แน่นอนของอัตราค่าค่าธรรมเนียม กล่าวคือ สปป. ลาวเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านแดนร้อยละ 3-5 ของราคาสินค้า รวมถึงค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในแต่ละแขวงที่ต่างกัน โดยไม่มีความแน่นอนในแต่ละด่าน ความแตกต่างของข้อกำหนดทางเทคนิคของรถ สปป. ลาว กำหนดพิกัดน้ำหนักรถบรรทุกของแต่ละแขวงยังไม่เท่ากัน สำหรับการขนส่งผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีน เนื่องจากจีนและไทยยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการขนส่งข้ามแดน รถบรรทุกไทยจึงไม่สามารถขนสินค้าไปยังจีนได้โดยตรง การขนส่งสินค้าผลไม้จากไทยที่นิยมใช้เส้นทาง R3A จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนหัวรถหรือถ่ายสินค้า ณ ด่านบ่อเต็นของ สปป.ลาว และสำหรับการขนส่งผ่านแดน สปป.ลาว ไปเวียดนาม เนื่องจาก เส้นทาง R8 และ R12 (ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นกว่าเส้นทาง R9 ในการขนส่งสินค้าจากไทยผ่าน สปป.ลาว ไปยังเวียดนาม) ยังไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region Cross Border Transport Agreement: GMS CBTA) ทำให้การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางดังกล่าวยังไม่ได้รับความสะดวก โดยผู้ประกอบการต้องเสียเวลาจากการตรวจสอบสินค้าจากหลายด่านใน สปป.ลาว และเวียดนาม และเสียค่าธรรมเนียมในการผ่านเส้นทาง

แนวนโยบายและยุทธศาสตร์ภายในประเทศของไทยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับศักยภาพการค้าชายแดนของไทยไป สปป.ลาว และการค้าผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีนและเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน โดยได้วางแนวทางในการพัฒนาศักยภาพการค้าดังกล่าว ทั้งในนโยบายระดับชาติและกลไกการดำเนินการในระดับปฏิบัติต่างๆ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 นโยบายของรัฐบาลการส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน นโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการส่งออกและพัฒนาการค้าชายแดนของกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งนโยบายและยุทธศาสตร์เหล่านี้ล้วนแต่จะเป็นกลไกผลักดันหรือส่งเสริมศักยภาพทางการค้าของไทยทั้งสิ้น หากสามารถนำนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าวที่วางไว้มาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้

นอกจากนี้ กรอบความตกลงหรือความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สามารถส่งผลต่อศักยภาพการค้าดังกล่าวของไทย โดยภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ มีการจัดทำกรอบความตกลงและร่วมมือในระดับภูมิภาคและทวิภาคี ที่เป็นฐานรองรับการพัฒนาความเชื่อมโยงความร่วมมือในทางเศรษฐกิจและด้านอื่นที่หลากหลาย รวมทั้งการค้าและการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งระหว่างกันของทั้งสี่ประเทศ ซึ่งหากมองในแง่ของวัตถุประสงค์และขอบเขตแล้ว พบว่า โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-regional Economic Cooperation: GMS-EC)น่าจะเป็นกลไกเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญลำดับต้น เนื่องจาก GMS-EC เป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง รวมทั้งไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายด้าน รวมทั้งการค้า การลงทุน โอกาสทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ฯลฯ ภายใต้ความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่หลากหลายรวมทั้งด้านการค้าและการคมนาคม ซึ่งประเทศไทยสามารถอาศัยกลไกของระเบียบกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศดังกล่าวเป็นตัวช่วยในการผลักดันหรือส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนดังกล่าวของไทยได้เป็นอย่างดี

ภายใต้บริบทและปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังที่ได้กล่าวมา เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพหรือเพิ่มโอกาสที่ไทยมีจุดแข็งและโอกาสค่อนข้างสูงในเรื่องของตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์ สำหรับช่องทางการค้าชายแดนไทยไป สปป.ลาว และการค้าผ่านแดน สปป.ลาว ไปยังจีนและเวียดนาม อาจพิจารณาถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ดังนี้

1. ภาพรวม

(1) ไทยควรพิจารณากำหนดยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านให้ลึกซึ้ง ชัดเจน และเข้มแข็ง โดยควรกำหนดยุทธศาสตร์ต่อประเทศเพื่อนบ้านแยกเป็นรายประเทศ เนื่องจากบริบทการเมือง สังคม วัฒนธรรม และทัศนคติของแต่ละประเทศต่อไทยมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน และควรพัฒนาองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างถ่องแท้ ทั้งนี้ การแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการให้ความช่วยเหลือต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับการพัฒนาที่น้อยกว่าไทยก็ควรพิจารณาให้ความสำคัญ

(2) ในระยะยาว นอกจากการพัฒนาศักยภาพการค้าชายแดนและผ่านแดน โดยเป็นการส่งออกสินค้าจากไทยไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม และจีนแล้ว ไทยควรพิจารณาเรื่องการสร้างห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ภายในภูมิภาค โดยภาครัฐควรมีบทบาทผลักดัน ส่งเสริม และอำนวยความสะดวก แก่นักลงทุนไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ความได้เปรียบของประเทศเหล่านี้

2. รายประเด็น

(1)การเชื่อมโยงการคมนาคมและขนส่งในภูมิภาคไทยควรเร่งผลักดันการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดนและผ่านแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาภายใต้กรอบ GMS ที่มีการเจรจาจัดทำความตกลง GMS CBTA รวมถึงบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IICBTA - The Initial Implementation of The Cross-Border Transport Agreement) หรือ MOU on IICBTA ระหว่างไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม และ MOU on IICBTA ระหว่าง ไทย - สปป.ลาว - จีน รวมถึงการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อนำกรอบความตกลงด้านการขนส่งในอาเซียนไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว

(2) การพัฒนาความร่วมมือในพื้นที่ชายแดนและสร้างเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านไทยควรให้ความสำคัญในลำดับต้นกับการเร่งพัฒนาพื้นที่ชายแดน เพื่อส่งเสริมให้เป็น "ชายแดนแห่งความร่วมมือ" โดยเฉพาะการผลักดันและเร่งรัดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในลำดับต้นคือ การพิจารณาหาแนวทางเพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้าน

(3)การแก้ไขปัญหาและการเสริมสร้างความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกทางการค้า ไทยควรเร่งรัดการแก้ไขปัญหาและการเสริมสร้างความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะการค้าผ่านแดนระหว่างไทย - สปป.ลาว - จีน และ ไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม รวมถึงพิจารณาการจัดการประชุมสามฝ่ายระหว่าง ไทย - สปป.ลาว - จีน และระหว่าง ไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม

(4) การสร้างเครือข่ายการทำงาน ไทยควรให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายการทำงานผ่านการสร้างความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของไทยกับประเทศต่างๆ โดยแนวทางหนึ่งที่น่าจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี คือ การพบปะหารืออย่างไม่เป็นทางการ การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ผ่านการจัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน การจัดสัมมนาให้ความรู้แก่บุคลากรของประเทศเหล่านี้

(5) การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐควรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และควรให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และระหว่างหน่วยงานจากส่วนกลางและหน่วยงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติจริงและอยู่ในท้องที่ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความเข้าใจในข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน ประกอบการพิจารณาจัดเตรียมท่าทีการเจรจาให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด

สำนักอาเซียน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กันยายน 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ