รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) เข้าร่วมการประชุม Hong Kong Summit: Regional Co-operation between Hong Kong and East Asia(Hong Kong Summit) ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 โดยได้รับเชิญให้ขึ้นร่วมเสวนาในหัวข้อ “การค้าเสรีและความร่วมมือในภูมิภาค” เพื่อสร้างพลวัตใหม่ในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การประชุม Hong Kong Summit จัดโดยสภาหอการค้าจีน (Chinese General Chamber of Commerce: CGCC) ของฮ่องกง มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นงานประชุมใหญ่หลังการเยือนฮ่องกงของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ในโอกาสการเฉลิมฉลอง 20 ปี การกลับคืนสู่จีนของฮ่องกง และเป็นสักขีพยานในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ของนางแครี แลม เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้นำคนใหม่ของฮ่องกงได้กล่าวปาฐกถา เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน และความสำคัญของอาเซียน ในฐานะคู่ค้าอันดับสองของฮ่องกง (รองจากจีน) โดยเลือกที่จะเยือนประเทศต่างๆ ในอาเซียนเป็นกลุ่มแรก นางแลมฯ เห็นว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งตั้งเป้าให้มีการลงนามในปีนี้ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนกับฮ่องกง ตลอดจนโครงการ Great Bay Area (กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า) จะยิ่งส่งเสริมบทบาทนำของฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับนโยบาย One-Belt One-Road (OBOR) ของจีนอย่างเป็นรูปธรรม
นางอภิรดี กล่าวว่า การเข้าร่วม Hong Kong Summit ครั้งนี้ ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) ความสำคัญของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ต่อการรวมกลุ่มในภูมิภาค 2) บทบาทนำของไทยและฮ่องกงในการเป็นประตูทางการค้าและการลงทุน ซึ่งสนับสนุนการเชื่อมโยงในภูมิภาคและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้นโยบาย OBOR ของจีน และยังได้นำเสนอโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยสามารถเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างเอเชียตะวันออก – อาเซียน – เอเชียใต้ และเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าทั้งแบบดั้งเดิมและการค้าขายออนไลน์ (E-Commerce) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และ 3) การพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมใหม่ และเพื่อให้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาค โดยกระทรวงพาณิชย์มีสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economic Academy) ที่พร้อมจะพัฒนาความร่วมมือด้าน SME และผู้ประกอบการ Startups กับฮ่องกงและประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจต่อไป
นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ ได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับนาย Edward Yau รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจคนใหม่ของฮ่องกง โดยสองฝ่ายต่างตระหนักถึงความสัมพันธ์อันดีและการเป็นประตูการค้าการลงทุนให้กันและกัน และต่างเห็นพ้องร่วมกันดำเนินการให้มีการลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ภายในปีนี้ ไทยและฮ่องกงสามารถกระชับความร่วมมือระหว่างกันได้อีกหลายด้าน โดยเฉพาะการบ่มเพาะ SMEs Startups และกลุ่ม Talentsให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจและธุรกรรมทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ได้มีการหารือถึงความคืบหน้าหลังการเยือนฮ่องกงของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ซึ่งสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) ได้พาคณะนักลงทุนฮ่องกงมาศึกษาลู่ทางและศักยภาพในการลงทุนใน EEC ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาโดยนาย Yau แจ้งว่า HKTDC มีแผนจะดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับไทยอย่างต่อเนื่อง
Chinese General Chamber of Commerce : CGCC เป็นสภาหอการค้าที่ใหญ่ที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดของฮ่องกง โดยมีสมาชิกกว่า 6,000 คน สำหรับงาน Hong Kong Summit ครั้งนี้ มีผู้แทนระดับสูงจากจีน รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) ประธานกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ผู้ประกอบการ นักธุรกิจและนักลงทุนจากจีนและฮ่องกง สนใจเข้าร่วมงานกว่า 800 คน
ด้านการค้าในปี 2559 ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 9 ของไทย เป็นประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ในปี 2559 การค้ารวมระหว่างไทยกับฮ่องกงมีมูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 2.50 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปฮ่องกง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากฮ่องกง ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องประดับอัญมณี และผ้าผืน
สำหรับการลงทุน ในปี 2559 ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เป็นอันดับที่ 7 จำนวน 32 โครงการคิดเป็นมูลค่า 8.6 พันล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 68.9 ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวฮ่องกงเดินทางมาไทย 7.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 12 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปฮ่องกง 5.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 12 ส่วนด้านแรงงาน ในปี 2559 มีแรงงานไทยเข้าไปทำงานในฮ่องกงประมาณ 2,000 คน ส่วนมากประกอบอาชีพผู้ช่วยแม่บ้าน พนักงานบริการ และผู้ประกอบอาหาร
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
12 กรกฎาคม 2560
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630