รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของนิวซีแลนด์ (Honorable Todd McClay) ร่วมลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขภาคผนวก 3 ของความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ไทย – นิวซีแลนด์ (Protocol to Amend Annex 3 of Thailand - New Zealand Closer Economic Partnership Agreement : TNZCEP) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ณ กระทรวงพาณิชย์
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พิธีสารดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการปรับเพิ่มปริมาณเพดานการนำเข้าสินค้า (Trigger Volume) ที่มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard: SSG) สำหรับผลิตภัณฑ์นม 3 รายการ ได้แก่ (1) หางนม (Whey) (2) ไขมันเนย (AMF) และ (3) เนยแข็ง (Cheese) ภายใต้ความตกลง TNZCEP โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2560 และปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีจนถึงปี 2563 ทั้งนี้ การปรับเพิ่มปริมาณ Trigger Volume ดังกล่าว เป็นเรื่องของการดำเนินการตามพันธกรณีของไทยตามความตกลง TNZCEP เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าและความต้องการนำเข้าสินค้าดังกล่าวของประเทศ
นางอภิรดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดทำประชาพิจารณ์ทางสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ รวมทั้งจัดสัมมนาประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยเชิญผู้มีส่วนได้เสียจากการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์นมเข้าร่วมงาน ได้แก่ เกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมรวมถึงภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์นมโดยการปรับเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้า 3 รายการข้างต้นในครั้งนี้ ไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมโคนมในประเทศ
จากสถิติการค้า ไทยมีการนำเข้าจริงสูงกว่าปริมาณเพดานการนำเข้าที่กำหนดไว้ (Trigger Volume) ภายใต้มาตรการปกป้องพิเศษอยู่มาก โดยในปี 2559 หางนม ไขมันเนย และเนยแข็งสด มีการกำหนดระดับ Trigger Volume อยู่ที่ 42.91 ตัน 17.10 ตัน และ 370.10 ตัน ในขณะที่ไทยนำเข้าจากนิวซีแลนด์ 2,349.05 ตัน 6,692.60 ตัน และ 732.93 ตัน ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงปริมาณความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ และการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นการปรับเพิ่ม Trigger Volume จะช่วยลดต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและราคาสินค้าในท้องตลาด และยังเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมโคนมและภาคการผลิตภายในประเทศได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเสรีในอีก 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากมาตรการปกป้องพิเศษภายใต้ความตกลง TNZCEP จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 อัตราภาษีนำเข้าจะเป็นร้อยละ 0 และไม่มีการกำหนดเพดานปริมาณการนำเข้าอีกต่อไป
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของนิวซีแลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่านับตั้งแต่มีการจัดทำความตกลง TNZCEP การค้าระหว่างกันมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จากปี 2548 ที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ มูลค่าการค้าอยู่ที่ 774 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เป็น 2,022 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 และยังใช้โอกาสนี้หารือเกี่ยวกับการเจรจาเปิดตลาดการค้าบริการภายใต้ความตกลง TNZCEP เนื่องจากปัจจุบันความตกลงฯ มีการเปิดเสรีเฉพาะด้านการค้าสินค้าและการลงทุน รวมทั้งหารือเกี่ยวกับโครงการที่นิวซีแลนด์จะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมไทย โดยเฉพาะด้านบริหารจัดการฟาร์มสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ และการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์นม ซึ่งนิวซีแลนด์ได้เสนอที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวให้กับกรมปศุสัตว์และเกษตรกรรุ่นใหม่ของไทยในเดือนสิงหาคม 2560 ที่ประเทศนิวซีแลนด์
ทั้งนี้ การเดินทางมายังประเทศไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้านิวซีแลนด์ในครั้งนี้ นับเป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีคนแรกของรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่มาเยือนประเทศไทย ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นด้วย
นิวซีแลนด์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 32 ของไทย ในปี 2559 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 2,007.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 0.49 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย) โดยไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ 1,415.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 330.92 และไทยนำเข้าจากนิวซีแลนด์ 591.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 ซึ่งไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 824.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
24 กรกฎาคม 2560
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630