ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย – ภูฏาน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 30 - 31สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวทีหารือระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการของภูฏาน (H.E. Mr. Lyonpo Lekey Dorji) เพื่อสานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ต่อเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย – ภูฏาน ครั้งที่ 1 ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อเดือนสิงหาคมในปีที่ผ่านมา
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างสัมพันธไมตรีอันดีของทั้งสองประเทศที่มีความใกล้ชิดกันแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า (สินค้าอุปโภคบริโภค บริการด้านการท่องเที่ยวและการรักษาพยาบาล การใช้ประโยชน์จากการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางถนนสามฝ่าย-อินเดีย-เมียนมาร์-ไทย) การลงทุน (ท่องเที่ยว ก่อสร้างสาธารณูปโภคและบูรณะวัดในภูฏาน) ตลอดจน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถเอื้อต่อกันได้ อาทิ การท่องเที่ยว (การฝึกงานของนักศึกษาด้านการท่องเที่ยวภูฏานในไทย/การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน) การเกษตร (ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วย ความร่วมมือด้านเกษตร ครั้งที่ 5 หารือต่อยอดความร่วมมือด้านเกษตรสาขาต่างๆ อาทิ เทคนิคการเพาะปลูก ดิน ปศุสัตว์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น) ตลอดจนการพัฒนาสินค้าหัตถกรรม (การออกแบบ หีบห่อ การตลาด) โดยในวันที่ 1 กันยายนนี้ ก็จะมีการนำคณะภูฏานจะเดินทางไปเยี่ยมชมที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (ศ.ศ.ป.) เพื่อเยี่ยมชมแนวทางการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของไทย พร้อมเข้าร่วมการประชุมกับผู้บริหารศ.ศ.ป. โดยจะมีการนำเสนอข้อเสนอความร่วมมือในการพัฒนาหัตถกรรมให้กับฝ่ายภูฏาน ซึ่งไทยกำหนดระยะเวลา 24 เดือน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย การจัดทำ MOU การกำหนดกิจกรรมพัฒนาทักษะและความสามารถ และการตลาด
ภูฏานเป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่มีทางออกทะเล มีประชากรประมาณ 7 แสนคน และมีเศรษฐกิจที่เน้นพึ่งพาเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอินเดียกว่าร้อยละ 80 แต่สินค้าไทยก็เป็นที่ต้องการและชื่นชอบของคนภูฏาน ทั้งนี้ ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในตลาดเอเชียใต้รองจาก อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ เนปาล และอัฟกานิสถาน การค้าระหว่างไทยกับภูฏานในปี 2559 มีมูลค่าเพียง 24.37 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีอัตราเติบโตกว่าร้อยละ 110.73 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555 – 2559) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 16.27 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 52.16 ต่อปี
นอกจากนี้ ภูฏานยังมีนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้ GDP เติบโตมากกว่าร้อยละ 7 และล่าสุด มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ พร้อมมาตรการจูงใจทางการเงินเมือเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผนวกกับข้อได้เปรียบเรื่องพลังงานและการเข้าถึงตลาดอินเดียก็ทำให้ภูฏานมีความน่าสนใจและน่าจะดึงดูดนักลงทุนได้ไม่น้อย
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปภูฏาน(ปี 2559) ได้แก่ ผ้าผืน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า และเครื่องนุ่งห่มส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากภูฏาน(ปี 2559) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ไม้ซุงและไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
31 สิงหาคม 2560
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630