นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 10-13 ธันวาคม ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งได้มอบหมายให้นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยในการประชุมครั้งนี้ว่า สมาชิก WTOทั้ง 164 ประเทศได้ประสบผลสำเร็จในการจัดทำ “ข้อตัดสินใจของรัฐมนตรี” (ministerial decisions) ในเรื่องการลดการอุดหนุนประมง ตามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ข้อ 14.6 ว่าด้วยการลดการอุดหนุนประมงที่นำไปสู่การทำประมงเกินขนาด และการอุดหนุนที่นำไปสู่การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (IUU)ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งต่อปริมาณทรัพยากรปลาในอนาคต โดยถือเป็นครั้งแรกที่ WTO ได้ผนวกเรื่อง SDGs เข้ามาไว้ในแผนการทำงาน อีกทั้งยังกำหนดให้สมาชิก WTOเจรจาประเด็นดังกล่าวต่อให้แล้วเสร็จภายในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งต่อไปในอีกสองปีข้างหน้า นอกจากนี้ สมาชิกยังให้คำมั่นที่จะสนับสนุนข้อมูลเรื่องการอุดหนุนประมงของตนเพื่อให้การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถหาข้อสรุปได้ตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ โดยไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหา IUU มาโดยตลอด จึงเป็นการดีที่ไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงเจตจำนงเพื่อขจัดปัญหาดังกล่าวในเวที WTO ครั้งนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ยังได้รับรองแผนการทำงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ที่ระบุให้ใช้กลไก WTO ที่มีอยู่แล้วหารือในประเด็นที่ตนรับผิดชอบ โดยมีคณะมนตรีใหญ่ (general council) เป็นผู้กำกับดูแลการหารือ เพื่อสร้างความชัดเจนและเพิ่มประสิทธิภาพการหารือเนื่องจากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะเกี่ยวพันในหลายเรื่อง เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และการพัฒนา รวมทั้งได้เห็นชอบต่ออายุการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออกไปอีก 2 ปีและต่ออายุการยกเว้นการฟ้องข้อพิพาทความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) กรณีไม่ได้ทำผิดพันธกรณีภายใต้ความตกลงดังกล่าวไปอีก 2 ปีจนถึงการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป รวมทั้งรับรองแผนการทำงานเรื่องประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก และคณะทำงานเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของประเทศเซาท์ซูดาน
นางสาวชุติมา กล่าวเสริมว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของระบบการค้าพหุภาคี เนื่องจากระบบการเจรจาของ WTO ตั้งอยู่บนหลักฉันทามติ เสียงค้านเพียงเสียงเดียวก็มีผลต่อความสำเร็จของการเจรจา จึงถือเป็นความท้าทายของ WTO และทำให้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า WTO ไม่สามารถปฏิบัติงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ อย่างไรก็ดี ระบบฉันทามติเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ WTO แตกต่างจากองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ โดยการให้สิทธิแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเท่าเทียมกับประเทศที่มีรายได้ต่อประชากรสูงที่สุดในโลก และการออกกฎเกณฑ์ทางการค้าที่ชัดเจนและเป็นธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประชุมที่บัวโนสไอเรสนี้ได้ให้ความหวังแก่ประเทศสมาชิกทุกประเทศว่า ความตกลงการค้าที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และอนาคตของโลกนั้น ยังคงเกิดขึ้นได้ หากทุกประเทศสมาชิกแสดงความยืดหยุ่นและความมุ่งมั่น เพื่อให้การค้าสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
16 ธันวาคม 2560
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630