‘พาณิชย์’เตรียมร่วมถกข้อเสนอทิศทางการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) พร้อมกับรัฐมนตรีชาติอาเซียน โชว์บทบาทอาเซียนนำการเจรจาให้ได้ผลสรุปภายในสิ้นปี 2561 ตามที่ผู้นำกำหนดเป้าหมาย
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับ RCEP ในวันที่ 11 มกราคม 2561 ที่สิงคโปร์ โดยที่ประชุมจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการเจรจา RCEP และประเด็นข้อเสนอใหม่ของอาเซียน รวมทั้งแนวทางขับเคลื่อนให้การเจรจาสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่ผู้นำตั้งไว้ ซึ่งระหว่างวันที่ 5-6 มกราคม ที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอาเซียนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยได้ปรับปรุงข้อเสนอใหม่เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในครั้งนี้ สำหรับใช้เป็นข้อเสนอเชิงรุกของอาเซียนที่จะเร่งผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาเพิ่มความยืดหยุ่นและผ่อนปรนท่าทีให้เข้าหากันได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ทุกประเทศสามารถแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันซึ่งเป็นการแสดงถึงบทบาทนำของอาเซียนที่เพิ่มความพยายามขับเคลื่อนให้การเจรจาเป็นผลสำเร็จในปี 2561 ตามเป้าหมายของผู้นำ
นายสกนธ์ กล่าวว่า ประเทศสมาชิก RCEP โดยเฉพาะจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Partnership) อย่างเข้มข้นมากขึ้นในทุกมิติ เพื่อขยายการส่งออกในระยะยาว นอกจากนี้ RCEP ซึ่งมีสมาชิก 16 ประเทศ ยังเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุม 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก มีประชากรรวมกันกว่า 3.5 พันล้านคน อีกทั้ง ในปี 2559 ไทยมีการค้าขายกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 59 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย จึงเป็นตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างมาก
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา RCEP ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เปิดเผยว่า การเจรจาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกยังมีท่าทีแตกต่างกันทั้งในเรื่องด้านการเปิดตลาดและด้านกฎเกณฑ์ เนื่องจากมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความคาดหวังและความอ่อนไหวที่แตกต่างกัน จึงทำให้แผนการเจรจาคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดี ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับ RCEP ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก และตกลงที่จะเพิ่มความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเจรจาบรรลุข้อตกลงได้มากที่สุด ภายในปี 2561
นายรณรงค์ กล่าวเสริมว่า สำหรับไทยได้พยายามผลักดันให้ประเทศสมาชิก RCEP โดยเฉพาะจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าสำคัญที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ประมงแปรรูป (ปลาทูน่า กุ้ง ปลาหมึก) มันสำปะหลังอัดเม็ด น้ำตาลจากอ้อย ข้าว ปิโตรเคมี ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งไทยมีการส่งสินค้าไปยัง 3 ประเทศนี้ คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวมกันกว่า 2.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 24.1 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปยังภูมิภาค RCEP หรือร้อยละ 13.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย
สมาชิก RCEP 16 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนา ไปจนถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่ไทยเรียกร้องให้พิจารณาเปิดตลาดให้ดีกว่าที่เคยให้ ภายใต้ความตกลงอาเซียน+1 โดย 3 ประเทศนี้มีความสำคัญต่อการเจรจา เนื่องจากเมื่อรวมกันแล้วเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่และจำนวนประชากรกว่า 2.8 พันล้านคน ประชากรรวมประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก คิดเป็นร้อยละ 79.8 ของจำนวนประชากรของภูมิภาค RCEP ที่จะเป็นตลาดของสินค้าไทย โดยในปี 2559 และทั้ง 3 ประเทศมี GDP รวมกันกว่า 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 77.3 ของ GDP ของภูมิภาค RCEP มีการนำเข้าจากโลก 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของการนำเข้าของภูมิภาค RCEP ในส่วนของการส่งออกมีการส่งออกไปยังโลก 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 62.2 ของการส่งออกของภูมิภาค RCEP
ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – พฤศจิกายน 2560) ไทยส่งออกไปภูมิภาค RCEP มีมูลค่า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.44 และมูลค่านำเข้า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.54
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
9 มกราคม 2561
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630