‘พาณิชย์’ จัดประชุมคณะอนุกรรมการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 1/2561 เตรียมรับไม้ต่อการเป็นประธานอาเซียนของไทย ในปี 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 12, 2018 13:32 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดประทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 1/2561 เพื่อเตรียมการสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องรวม 39 หน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กรมศุลกากร กรมสรรพากร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น เข้าร่วมหารือเรื่องการกำหนดประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยต้องการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของหน่วยงานไทย

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีความเห็นในเบื้องต้นว่า ประเด็นที่ไทยควรผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ของอาเซียนในปี 2562 ในฐานะประธานอาเซียนควรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย ตลอดจนทันสมัยกับแนวโน้มเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับแผนงานที่อาเซียนได้ตั้งเป้าจะดำเนินการให้สำเร็จในปี 2562 รวมทั้งอาจต่อเนื่องกับประเด็นที่ประเทศซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีที่ผ่านๆ มาตั้งไว้ เช่น ในปี 2561 สิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียน ได้กำหนดให้อาเซียนผลักดันเรื่องนวัตกรรมและความเชื่อมโยง และฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2560 ได้กำหนดให้อาเซียนผลักดันเรื่องการมีส่วนร่วมและการเติบโตด้วยนวัตกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นว่าอาเซียนควรเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน โดยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับผลกระทบจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทดแทนแรงงานคน และควรให้ความสำคัญกับการผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือRCEP สามารถสรุปผลให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯจึงได้มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยต้องการผลักดันหรือเกิดผลลัพธ์ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ต่อไป โดยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธาน

นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่สำคัญของอาเซียน ได้แก่ การเชื่อมโยงอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ซึ่งกรมศุลกากรแจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ประเทศสมาชิกรวม 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซียมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้เริ่มดำเนินการเชื่อมโยงเพื่อแลกเปลี่ยน e-Form Dร่วมกันแล้ว ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยลดภาระภาคเอกชนในการเตรียมเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกไปอาเซียน เพราะจะเป็นการยื่นเพียงครั้งเดียวทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยในการบริหารความเสี่ยงและวางแผนการตรวจปล่อยสินค้าของประเทศผู้นำเข้า ทำให้การตรวจปล่อยสินค้าจากด่านศุลกากรของประเทศผู้นำเข้ารวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน และสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศในอาเซียน

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้หารือถึงปัญหาอุปสรรคทางการค้าในอาเซียน ที่ปัจจุบันมีบางประเทศสมาชิกอาเซียนนำมาตรการที่มิใช่ภาษีมาใช้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าของไทย เช่น กฎระเบียบการนำเข้ารถยนต์ของเวียดนาม และมาตรการนำเข้าพืชสวนของอินโดนีเซีย จึงเห็นควรที่อาเซียนจะต้องเร่งหารือมุ่งดำเนินการเพื่อขจัด/ลดอุปสรรคทางการค้าเหล่านี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนใ นช่วง 10 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม-ตุลาคม) มีมูลค่า 83,505 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.1 ของการค้าระหว่างไทยกับโลก โดยเป็นการส่งออก 48,907 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 34,598 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปยังอาเซียนมีสัดส่วนร้อยละ 25.0 ของการส่งออกรวมของไทย และขยายตัวร้อยละ 8.1 ในขณะที่การนำเข้าจากอาเซียนมีสัดส่วนร้อยละ 18.9 ของการนำเข้ารวมของไทย และขยายตัวร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

11 มกราคม 2561

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ