‘พาณิชย์’ เผยรัฐมนตรีเศรษฐกิจกลุ่มประเทศแม่โขง–ล้านช้าง ประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นกระชับ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 250 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 12, 2018 13:34 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิก MLCอีก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน ออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจประเทศสมาชิก MLC ในระหว่างการประชุมผู้นำ MLCเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน และให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีนจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิก MLC

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ปฏิญญาพนมเปญ (Phnom Penh Declaration) ที่ผู้นำ MLC 6 ประเทศ ได้ประกาศที่กรุงพนมเปญ ระบุว่าผู้นำแสดงความยินดีกับการออกแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ MLCซึ่งแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ มีสาระสำคัญ 7 ประเด็น ได้แก่ (1) สมาชิก MLCพร้อมส่งเสริมการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินแผนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของสมาชิก เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ของไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 13 ของจีน เป็นต้น และจะร่วมจัดทำแผนพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกแม่โขง -ล้านช้าง ระยะ 5 ปี (2) ส่งเสริมการค้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้า 250พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 (จากประมาณ 190 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบัน) (3) ยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้า (4) ส่งเสริมความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แก่ธุรกิจขนาดไมโคร ขนาดกลาง และขนาดย่อม (MSMEs) (5) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุน (6) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และ (7) ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ MLCข้างต้น จะเป็นการต่อยอดความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน อย่างรอบด้าน ตามนโยบายของรัฐบาลที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับข้อริเริ่มแถบหนึ่งหนึ่งเส้นทางของจีน และการดำเนินยุทธศาสตร์ CLMVTของกระทรวงพาณิชย์

นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังได้มีมติ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้างร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อรับจัดสรรเงิน 1,701,800 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 59,500,000 บาท จากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง มาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับสมาชิก MLCจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน 2) โครงการพัฒนาการอำนวยความสะดวกแนวชายแดนเพื่อพัฒนาการค้าและระบบโลจิสติกส์ 3) การจัดกิจกรรมเวทีภาคธุรกิจแม่โขง - ล้านช้าง และ 4) การพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตชนบท

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) กับสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (MekongInstitute:MI)เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวต่อไป โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้บริหารโครงการร่วมกับ MIโดยประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นผู้บริหารโครงการเหล่านี้ คือ ผู้ประกอบการและนักธุรกิจของไทยจะได้รับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่โครงการจัดขึ้น เช่น การจับคู่ทางธุรกิจ การจัดฝึกอบรมสัมมนาในเรื่องการอำนวยความสะดวกแนวชายแดน การพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการในอนุภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่มูลค่าระหว่างประเทศสมาชิก เป็นต้น จีนได้จัดตั้งกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้างขึ้นในการประชุมผู้นำ MLCครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2559 โดยมีมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินจากจีนแล้วมี 132 โครงการ เป็นด้านเศรษฐกิจของไทย 4 โครงการ

ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการค้ากับประเทศสมาชิก MLC5ประเทศ รวม 94,000ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก และสมาชิก MLCมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ต่อปี MLCจึงเป็นอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงและน่าจับตามองอย่างยิ่ง

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

11 มกราคม 2561

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ