สาธารณรัฐอินโดนีเซีย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP-TNC) ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 2 - 9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ เมืองยอกยาการ์ตา เร่งเดินหน้าการเจรจาให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP-TNC) เปิดเผยว่า ปีนี้จะเป็นปีที่มีความสำคัญมาก หลังจากการเจรจา RCEP ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป สมาชิกอาเซียนจึงเห็นพ้องที่จะต้องเร่งรัดการเจรจาให้เป็นไปตามที่ผู้นำ RCEP ได้มาพบกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยได้มอบหมายให้รัฐมนตรีและคณะเจรจาเพิ่มความพยายามในการเจรจาในปี 2561 ดังนั้น ตั้งแต่ต้นปี 2561 อาเซียนจึงได้มีการประชุมทั้งระดับคณะกรรมการและรัฐมนตรี เพื่อร่วมแสดงบทบาทนำที่จะผลักดันให้สรุปผลภายในปีนี้อย่างชัดเจน โดยจะปรับกลยุทธ์การเจรจากับประเทศคู่เจรจาแต่ละประเทศ รวมทั้งจะกำหนดเป้าหมายการเจรจาอย่างชัดเจนในแต่ละประเด็น สำหรับคณะทำงานและคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อให้เจรจาบรรลุผลสำเร็จตามแนวทางที่กำหนดไว้
นายรณรงค์ กล่าวว่า การประชุม RCEP-TNC ในครั้งนี้ จะเป็นการประชุม RCEP ครั้งแรกในปี 2561 ซึ่งจะเน้นการเจรจาในประเด็นหลัก ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยอาเซียนจะเสริมการหารือแบบทวิภาคีกับประเทศคู่เจรจา เพิ่มจากการเจรจา TNC ตามปกติ เพื่อให้การเจรจามีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้ประเทศคู่เจรจายอมรับข้อเสนอรูปแบบการเปิดตลาดสินค้าของอาเซียน คือยกเลิกอัตราศุลกากรร้อยละ 92 ของรายการทั้งหมด และมูลค่านำเข้าภายในเวลา 15 ปี บนพื้นฐานของการยกเลิกภาษีสินค้าเดียวกันให้แก่ทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงข้อเสนอรูปแบบการเปิดตลาดในสินค้าส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 8 ซึ่งเป็นข้อเสนอใหม่เพิ่มเติมของอาเซียน เพื่อผลักดันให้การเจรจาครอบคลุมสินค้าทั้งหมด ซึ่งหวังว่าประเทศคู่เจรจาจะตอบสนองเชิงบวกและปรับปรุงข้อเสนอการเปิดตลาดให้ดีขึ้นกว่าเดิม ในรอบนี้จะมีการเจรจาเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าด้วย ซึ่งกรมฯ มองว่า RCEP จะช่วยปรับประสานอัตราภาษีศุลกากรและกฎกติกาให้สอดคล้องกัน ทำให้เข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ ท่าทีของประเทศคู่เจรจาและผลสำเร็จที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่าการเจรจา RCEP จะสามารถบรรลุผลได้ตามเจตนารมณ์ของผู้นำหรือไม่
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัยและครอบคลุมประเด็นการเจรจาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประเด็นใหม่ๆ ที่ไทยยังไม่เคยมีความตกลงมาก่อน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการจัดทำความตกลงการค้าเสรีที่จะต้องได้รับผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และประชาชน กรมฯ จึงได้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ล่าสุด กรมฯ ได้จัดประชุมหารือเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมถึงผู้แทนจากภาคประชาสังคม เช่น ศูนย์วิจัยและจัดความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจา รวมถึงข้อกังวลของภาคประชาสังคม เกี่ยวกับขอบเขตของกระบวนการระงับข้อพิพาท และสินค้าที่จะอยู่ในข้อเสนอเปิดตลาด
ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และนิวซีแลนด์ ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 3.5 พันล้านคน ประเทศสมาชิกมี GDP รวมกันกว่า 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นกว่าร้อยละ 29 ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวม 9.77 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 29 ของมูลค่าการค้าโลก ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับสมาชิก RCEP ในปี 2559 จำนวน 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 59.32 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก โดยไทยเล็งเห็นประโยชน์ในการขยายตลาดสินค้าไทยไปยังประเทศสมาชิก เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ที่ยังมีกำแพงภาษีสูง โดยเฉพาะกับสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ซึ่งประเทศสมาชิก RCEP ต้องลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าให้เป็นศูนย์หรือน้อยที่สุด หากการเจรจาสำเร็จจะทำให้สินค้าของไทยเข้าสู่ตลาดดังกล่าวด้วยอัตราภาษีที่ต่ำอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสการขยายตลาดให้กับสินค้าไทย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
2 กุมภาพันธ์ 2561
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630