นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงการขยายตัวของการค้าและการส่งออกของไทยกับประเทศคู่ค้าที่มีความตกลงการค้าเสรี(FTA) ระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 12 ฉบับ ว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ติดตามสถิติการค้าพบว่ามูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยกับประเทศคู่ FTA มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดย FTA ที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน หรืออาฟต้า ถือเป็น FTA ที่มีมูลค่าการค้าขยายตัวสูงสุดในบรรดา FTA ทั้งหมด 12 ฉบับ โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน ขยายตัวกว่าร้อยละ 707 นับตั้งแต่ความตกลง AFTA มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2536 โดยในปี 2560 การส่งออกของไทยไปประเทศสมาชิกอาเซียน มีมูลค่า 59.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกล เป็นต้น
สำหรับมูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยกับประเทศคู่ FTA ที่มีการขยายตัวในระดับรองลงมาคือ FTA ไทย-อินเดีย (TIFTA) โดยมีมูลค่าการค้าขยายตัวกว่าร้อยละ 406 นับตั้งแต่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2547 โดยในปี 2560 มูลค่าการส่งออกของไทยไปอินเดีย อยู่ที่ 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องจักรกล เป็นต้น
สำหรับ FTA ที่มีมูลค่าการค้าและการส่งออกกับไทยเป็นอันดับ 3 คือ FTA อาเซียน–จีน หรือ ACFTA โดยมีอัตราการเติบโตของการค้าอยู่ที่ร้อยละ 262 นับจากมีผลใช้บังคับเมื่อกรกฎาคม 2548 มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีน ในปี 2560 สูงถึง 29.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ และ เคมีภัณฑ์
สำหรับอันดับ 4 และ 5 ได้แก่ FTA ไทย–นิวซีแลนด์ และไทย-ออสเตรเลีย โดยในส่วน FTA ไทย–นิวซีแลนด์ มูลค่าการค้าขยายตัวร้อยละ 194.8 นับจากบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 โดยมูลค่าการส่งออกจากไทยไปนิวซีแลนด์ ในปี 2560 อยู่ที่ 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก และ ผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับ FTA ไทย-ออสเตรเลีย มูลค่าการค้าขยายตัวถึงร้อยละ 132 นับจากบังคับใช้เมื่อมกราคม 2548 โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลีย ในปี 2560 สูงถึง 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลกระป๋อง
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตของมูลค่าการค้ากับประเทศคู่ค้าที่ไทยยังไม่ได้มีการทำ FTA ด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และไทยกับสหภาพยุโรป เติบโตร้อยละ 61.2 และร้อยละ 31.6 ซึ่งเป็นตัวเลขการขยายตัวของมูลค่าการค้าในระดับที่ต่ำกว่าประเทศที่ไทยมีการทำ FTA ด้วย
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า FTA ที่ไทยลงนามและมีผลบังคับใช้แล้วกับประเทศคู่ค้า 12 ฉบับ ประกอบด้วยความตกลง FTA ระดับทวิภาคี 6 ฉบับ ได้แก่ ไทย-อินเดีย ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-เปรู และไทย-ชิลี และความตกลง FTA ระดับภูมิภาค 6 ฉบับ ได้แก่ อาเซียน อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย อาเซียน-นิวซีแลนด์ และอาเซียน-อินเดีย โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้าที่คู่FTA จะต้องลดภาษีสินค้ามากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดให้เหลือศูนย์ แต่สำหรับกรณี FTA ไทย–อินเดีย ยังเป็นเพียงการลดภาษีศุลกากรสินค้าเพียง 83 รายการ การเปิดตลาดดังกล่าวช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศคู่ค้า FTA เพราะต้นทุนการผลิตสินค้าจะต่ำกว่าคู่แข่งนอก FTA ขณะเดียวกันผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากสินค้าที่หลากหลาย สามารถซื้อสินค้าตามราคาและคุณภาพที่พอใจ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศขอเชิญชวนผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และผู้สนใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากการที่ไทยได้ลดภาษีจากประเทศคู่เจรจาในการส่งออก ตลอดจนสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
9 กุมภาพันธ์ 2561
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630