16 ประเทศเร่งเดินหน้าเจรจา RCEP

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 19, 2018 13:40 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ผู้แทน 16 ประเทศเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เร่งหารือตามที่ผู้นำ RCEP ได้มอบหมายให้เพิ่มความพยายามในปีนี้ โดยอาเซียนเดินหน้าเจรจาทวิภาคีกับคู่เจรจารายประเทศ เน้นสร้างความเข้าใจระหว่างกันเพื่อลดช่องว่างท่าทีที่ต่างกันหวังผลักดันการเจรจาให้บรรลุผลโดยเร็ว นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP-TNC) กล่าวถึงความคืบหน้าของการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า การเจรจารอบนี้ถือเป็นรอบสำคัญก่อนที่จะมีการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 4 ในวันที่ 3 มีนาคม 2561 ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งการหารือในรอบนี้ได้มุ่งเน้นเฉพาะการจัดทำความตกลงเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ซึ่งสมาชิก RCEP ต่างตระหนักถึงความสำคัญของการสรุปผลการเจรจาโดยเร็ว จึงพยายามเร่งผลักดันการเจรจาให้มีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยอาเซียนได้แสดงบทบาทนำผลักดันให้คู่เจรจาแต่ละประเทศยอมรับข้อเสนอของอาเซียนและพยายามโน้มน้าวให้สมาชิกร่วมมือกันหาทางออกเพื่อให้สามารถสรุปผลได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กำหนดแผนการทำงานในปี 2561 ซึ่งจะมีเป้าหมายการเจรจาในแต่ละประเด็นสำหรับให้คณะเจรจาดำเนินการตามแผนฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้

นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาชิกได้หารือรูปแบบการเปิดตลาดสินค้าซึ่งอาเซียนเสนอให้ยกเลิกอัตราศุลกากรของสินค้าจำนวนร้อยละ 92 ของรายการสินค้าทั้งหมดให้เป็น 0 ภายในระยะเวลา 15 ปี สำหรับสินค้าในส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 8 จะแยกเป็นสินค้าอ่อนไหวและสินค้าอ่อนไหวสูงรวมจำนวนร้อยละ 7 ซึ่งจะลดภาษีลงมาเหลือร้อยละ 5-10 ภายในระยะเวลา 20-30 ปี และสินค้าอ่อนไหวที่ไม่สามารถเปิดตลาดสินค้าได้จำนวนร้อยละ 1 ให้ยังคงภาษีไว้เหมือนเดิมได้ ซึ่งการเปิดเสรีนี้ถือเป็นการเปิดเสรีในระดับสูงเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) แต่แตกต่างที่จะมีความยืดหยุ่นให้แก่ประเทศสมาชิกตามความสามารถในการแข่งขัน

ในส่วนของไทยมีโจทย์ใหญ่เช่นเดียวกันกับสมาชิก RCEP อื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามรูปแบบการเปิดตลาดที่กำหนด ดังนั้น การจัดทำรายการสินค้าเพื่อเปิดเสรีในระดับที่เหมาะสมทั้งในระยะแรกและระยะถัดไปถือเป็นวาระสำคัญที่จะต้องมีการพิจารณาร่วมกันทั้งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีปัจจัยประกอบการพิจารณาหลายด้าน เช่น ระดับการเปิดเสรีซึ่งไทยได้เคยเปิดให้ประเทศอื่นภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ รวมถึงความตกลงทวิภาคี เช่น ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ และไทย-ญี่ปุ่น และระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและในระดับโลก ทั้งนี้ จะไม่สามารถพิจารณาเพียงแค่เรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบทางด้านภาษีเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงด้านมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ด้านมาตรฐานสินค้า สุขอนามัย พิธีการศุลกากร รวมถึง กฎแหล่งกำเนิดสินค้าด้วย มาประกอบการพิจารณาว่าไทยจะเปิดเสรีภายใต้ RCEP มากน้อยเพียงใด ซึ่งกรมฯ จะร่วมหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จะใช้ประกอบในการกำหนดท่าทีที่ดีที่สุดของไทย จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกหน่วยงานจะทำงานร่วมกัน

นายรณรงค์ กล่าวเสริมว่า ส่วนการเจรจาด้านการค้าบริการและการลงทุนมีความคืบหน้าเพิ่มเติมโดยสามารถสรุปข้อบทการค้าบริการและการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ยังมีหลายประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งหารือต่อไป รวมถึงเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาและการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนต้องการผลักดัน ทั้งนี้ จะมีการรายงานความคืบหน้าการเจรจาต่อที่ประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 4 ในวันที่ 3 มีนาคม 2561 และคาดว่าผลจากการประชุมรัฐมนตรีจะสามารถใช้เป็นแนวทางผลักดันการเจรจาให้สำเร็จในการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 22 ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2561 ณ ประเทศสิงคโปร์

ทั้งนี้ ความตกลง RCEP ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มุ่งเน้นการบูรณาการอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยร่วมกับประเทศคู่เจรจาที่อาเซียนมีความตกลงการค้าเสรีด้วย 5 ฉบับ 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่ระหว่างประเทศคู่เจรจาด้วยกันเองนั้น ยังไม่มีความตกลงระหว่างกัน เช่น ญี่ปุ่น-เกาหลี จีน-อินเดีย จีน-ญี่ปุ่น อินเดีย-นิวซีแลนด์ เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

16 กุมภาพันธ์ 2561

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ